เพราะอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศของคนนั้นมีหลากหลาย
ชวนมารู้จักอัตลักษณ์ทางเพศต่างๆ ผ่านปฏิทินแห่งเดือนไพรด์กันเถอะ

SPECTROGRAM: Pride Month Calendar

เป็นที่รู้กันอยู่อย่างกว้างขวางว่า ‘Pride Month’ นั้น ถูกจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อใช้รำลึกถึงเหตุการณ์ Stonewall Riots ในปี 1969 ซึ่งมีการเรียกร้องสิทธิเรื่องเพศที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา จึงมีการตั้งให้เดือนนี้เป็นเหมือนเดือนแห่งความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายทั่วโลก

และสำหรับ ‘Pride Month Calendar’ นี้นั้นไม่ได้ถูกกำหนดอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการทำขึ้นจากกลุ่มคนที่อยากให้เดือนไพรด์นี้ ได้เน้นย้ำถึงอัตลักษณ์ที่หลากหลายของเพศของคนที่มีมากไปกว่า L G B T แต่ยัง + อีกมากมาย และภาพที่เรานำมาวันนี้เป็นภาพธงประจำอัตลักษณ์ทางเพศต่างๆ ผ่านทางการนำสีสันจากของกลุ่ม ‘เนบิวลา’ ที่ส่องแสงระยิบระยับงดงามมากมายในจักรวาล จากไอเดียของ ‘Laurie Raye’ ศิลปินชาวอังกฤษ ที่ให้กลุ่มดาวนำเสนอความหลากหลาย ซึ่งอาจมีมากมายไปกว่าการนิยามในปฏิทินนี้ด้วยซ้ำ

Gay – ใช้อธิบายถึงบุคคลที่มีรสนิยมทางเพศที่พึงพอใจในเพศเดียวกัน ในไทยนั้นมักใช้เรียกคนที่เป็นชายรักชาย มีอัตลักษณ์เป็นชาย ไม่ได้ต้องการข้ามเพศ และชอบคนที่มีอัตลักษณ์เป็นชายเหมือนกัน แต่ในต่างประเทศบางครั้งก็ใช้เรียกคนที่มีรสนิยมแบบหญิงรักหญิงได้เช่นกัน

Lesbian – ใช้เรียกคนที่มีรสนิยมแบบหญิงรักหญิง ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะนิยามตัวตนว่าเป็นทอมหรือดี้ ก็นับว่าเป็นเลสเบี้ยนเช่นกัน โดยมีวันที่ 26 เมษายนของทุกปี เป็นวัน ‘Lesbian Visibility Day’ เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ถึงการมีตัวตนของเลสเบี้ยน ให้อัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และมีวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปีเป็นวัน ‘International Lesbian Day’ ที่ใช้เพื่อเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมหญิงรักหญิงทั่วโลก

Bisexual – ใช้เรียกบุคคลที่มีรสนิยมชอบได้ตั้งแต่ 2 เพศขึ้นไปทั้งในทางอารมณ์และความสัมพันธ์ทางเพศ โดยในเดือนกันยายนนั้นจะมีการใช้สัปดาห์หนึ่งทั้งสัปดาห์เพื่อโปรโมทกิจกรรม เรียกว่า ‘Bisexual Awareness Week’ ก่อนที่จะถึงวันที่ 23 กันยายนของทุกปีซึ่งเป็นวัน ‘Bi Visibility Day’ หรือวันแห่งการตระหนักรู้ถึงการมีตัวตนของไบเซ็กชวล

Polysexual – ใช้อธิบายถึงบุคคลที่มีรสนิยมทางเพศได้หลายเพศ แต่ไม่ใช่ทุกเพศ และไม่ได้แปลว่ามีความสัมพันธ์ได้หลายคน อย่าจำสับสนกัน

Pansexual – คำว่า ‘Pan’ มาจากภาษากรีก เมื่อถูกใช้เติมเข้าข้างหน้าคำอื่นจะมีความหมายว่า ‘ทั้งหมด’ เป็นการเกิดแรงดึงดูดกับบุคคลอื่นโดยไม่ได้มีเพศของอีกฝ่ายเป็นเงื่อนไข เพศของอีกฝ่ายไม่ได้มีผลกับความรู้สึกและแรงดึงดูดที่มีต่อบุคคลนั้น ซึ่งรวมไปถึงชอบคนที่ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นเพศอะไรเลยอย่าง Agender โดยมีวันที่ 8 ธันวาคม เป็นวัน ‘Pansexual Pride Day’ เพื่อเฉลิมฉลองความเป็นแพนเซ็กชวล

Skolio-Sexual – ถูกใช้อธิบายบุคคลที่มีรสนิยมพึงพอใจในคนที่นิยามตัวเองว่าเป็น Non-binary หรือสนใจในคนที่ไม่ได้อยู่ใต้ร่มความเป็นชายหรือความเป็นหญิง
เสียงจากคนที่นิยามตัวเองว่าเป็น Skolio-Sexual
“ฉันชอบคนที่เป็น Genderqueer ที่ไม่ได้มีทั้งความแข็งกระด้างหรือความอ่อนโยนจนเกินไ
สิ่งที่เขาเป็นมันดึงดูดฉันมากๆ”

Demi-Sexual – คือคนที่รู้สึกชื่นชอบในทางอารมณ์กับคนสนิท ซึ่งอาจเกิดจากความผูกพันหรือความใกล้ชิด เป็นคนที่รู้สึกไว้ใจ แต่ความรู้สึกนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนที่อยู่ใกล้ตัว มักเกิดขึ้นเฉพาะบุคคลเท่านั้น
อีกหนึ่งเสียงจากคนที่นิยามว่าเป็น Demi-Sexual
“ไม่ว่าเขาจะสวยหรือหล่อแค่ไหน แต่ถ้าเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ฉันก็ไม่รู้สึกชื่นชอบอยู่ดี”
Grey-Sexual – ใช้อธิบายบุคคลที่มีแรงดึงดูดทางเพศไม่สม่ำเสมอ อาจจะรู้สึกบ้างแต่น้อยครั้งมากๆ จนเรียกว่าแทบไม่มีเลย ซึ่งนิยามนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลที่เป็นเดมิเซ็กชวลไปพร้อมๆ กัน และไม่ได้แปลว่าจะไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ หรือจะไม่มีอารมณ์ทางเพศเลย เพียงแต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นมีน้อยครั้งมากๆ

Asexual – คือคนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับใคร ต่างจากการถือพรหมจรรย์ ตรงที่เอเซ็กชวลเป็นรสนิยมทางเพศ แต่พรหมจรรย์เป็นทางเลือก อย่างไรก็ตามคนที่เป็นเอเซ็กชวลบางคนสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แค่ไม่รู้สึกดึงดูดทางเพศกับคู่นอน

Polyamorous – คือคนที่มีความปรารถนาหรือแนวทางปฏิบัติเรื่องความสัมพันธ์มากกว่าหนึ่งคน เปิดเผยให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรับรู้ โดยสามารถเกิดขึ้นในคู่รักที่เป็นชายหญิงอยู่แล้ว แต่ฝ่ายหญิงรับผู้หญิงอีกคนเข้ามาเพิ่มในความสัมพันธ์ก็ได้เช่นกัน ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ข้อตกลง และเป็นความยินยอมในการมีคู่ครองหลายคนอย่างมีความรับผิดชอบ

Intersex – หมายถึงเพศสรีระของคนที่เกิดมามีคุณลักษณะทางกายภาพมากกว่า 1 เพศในคนเดียว เช่น มีทั้งอวัยวะเพศหญิงและเพศชาย หรือมีโครโมโซมทึ่ไม่ใช่ XX หรือ XY หมอและครอบครัวมักจะเป็นคนเลือกเพศให้พวกเขาตั้งแต่เกิดหรือตั้งแต่ยังเด็ก โดยการผ่าตัดแปลงเพศแบบไม่เต็มใจ

MTF Transgender – ย่อมาจาก ‘Male-To-Female’ ใช้หมายถึงคนข้ามเพศจากชายเป็นหญิง คือ คนที่เกิดมาเป็นเพศชายโดยกำเนิด แต่เพศในจิตใจเป็นหญิง อาจเรียกว่า Transwoman หรือ หญิงข้ามเพศ ได้เช่นกัน

FTM Transgender – ย่อมาจาก ‘Female-To-Male’ ใช้หมายถึงคนที่ข้ามเพศจากหญิงเป็นชาย คือ คนที่เกิดมาเป็นเพศหญิงโดยกำเนิด แต่มีเพศในจิตใจเป็นชาย อาจเรียกว่า Transman หรือ ชายข้ามเพศ ได้เช่นกัน โดยมีวันที่ 31 มีนาคมของทุกปีเป็นวัน ‘International Transgender Day of Visibility’ เพื่อเฉลิมฉลองและตระหนักถึงการมีอยู่ของคนข้ามเพศ

Agender – หมายถึงหนึ่งในอัตลักษณ์ทางเพศใต้ร่ม Non-binary หรือเป็นคำที่แสดงถึงการไร้ซึ่งเพศสภาพก็ได้ Agender แต่ละคนจึงนิยามตัวเองต่างกัน บ้างก็บอกว่าตัวเองไม่มีเพศ บ้างก็บอกว่าตนเป็นเพศกลาง (ไม่เป็นทั้งหญิงและชาย) หรือ ไม่มีคำบอกเพศสภาพไหนอธิบายตัวเองได้ดีเท่า Agender แล้ว โดยทุกวันที่ 19 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวัน Agender Pride Day

Genderfluid – เป็นอัตลักษณ์ทางเพศที่ลื่นไหลไปมา และเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ใต้ร่ม Non-binary โดยความลื่นไหลของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน บางคนเปลี่ยนจากรู้สึกเป็นหญิงไปเป็นเควียร์เพียงพริบตา บางคนสามารถรู้สึกเป็นหลายเพศสภาพในเวลาเดียวกัน หรือเปลี่ยนจากรู้สึกเป็นเพศหนึ่งไปไม่มีเพศก็ได้ ทำให้เจนเดอร์ฟลูอิดมักจะเชื่อมโยงกับการแสดงออกทางเพศที่จะเปลี่ยนไปตามความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพศอะไร
อีกเสียงหนึ่งจากคนที่เรียกตัวเองว่าเจนเดอร์ฟลูอิด โดยใช้ชื่อ ‘Beth’ ขณะที่เป็นผู้หญิง และ ’Kurt’ ในตอนที่เป็นผู้ชาย เขาอธิบายว่าอัตลักษณ์นี้ไม่ใช่แค่ความไม่แน่ใจในเพศของตนเอง “มันไม่ใช่คำเรียกชั่วคราวจนกว่าฉันจะตัดสินใจได้ว่าตัวเองเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ฉันไม่ต้องเลือกก็ได้ เพราะบางครั้งฉันเป็นผู้ชายและบางครั้งฉันเป็นผู้หญิง ฉันรู้สึกถูกจำกัดเวลาที่ต้องนิยามตัวเองด้วยเพศเดียว”

Bigender – หรือ Dualgender เป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ทางเพศใต้ร่ม Non-binary หมายถึงการมี 2 อัตลักษณ์ทางเพศในคนเดียว ซึ่งสามารถสลับไปมาหรือรู้สึกพร้อมกันทั้ง 2 เพศก็ได้

Trigender – คือคนที่นิยามตัวเองด้วย 3 อัตลักษณ์ทางเพศเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ทางเพศใต้ร่ม Non-binary ซึ่งอาจรู้สึกว่าเป็นเพศนั้นพร้อมกับทั้งหมด หรือเปลี่ยนแปลงลื่นไหลไปมาก็ได้ระหว่าง 3 เพศนั้นก็ได้

Pangender – หรือ Omnigender เป็นอัตลักษณ์ทางเพศใต้ร่ม Non-binary ที่หมายถึงความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพศอะไรก็ได้ในขอบเขตความรู้เรื่องเพศในวัฒนธรรมของตน ซึ่งสามารถเป็นได้หลายรูปแบ
เสียงจากคนที่นิยามตัวเองว่าเป็นแพนเจนเดอร์
“บางครั้งฉันมองว่าเพศสภาพเหมือนสีมากมายที่ผสมกันอยู่จานสี
เราจะมองไม่ออกว่าสีหนึ่งๆ เริ่มและจบที่จุดไหน แต่มันก็ยังคงสวยงาม”

Genderqueer – หมายถึงเพศสภาพที่อยู่นอกเหนือระบบ 2 ขั้วแบบชาย-หญิง และไม่สามารถใช้คำที่มีอยู่อื่นๆ ในการนิยามเพศได้ เป็นความหมายเดียวกันกับคำว่า Non-binary
Laura A. Jacobs นักจิตบำบัดที่เชี่ยวชาญในประเด็นทรานส์และ Non-binary ผู้เรียกตัวเองว่า Genderqueer พุดถึงอัตลักษณ์นี้ว่า
“สำหรับฉัน เจนเดอร์เควียร์เกี่ยวกับการเมืองเรื่องเพศโดยตรง
คำนี้ท้าทายกรอบเพศแบบเดิมและการเหมารวมคนแต่ละเพศ”

Demigirl – เป็นอัตลักษณ์หนึ่งใต้ร่ม Non-binary บางครั้งก็เรียกว่า Demiwoman หรือ Demifemale person คืออัตลักษณ์ทางเพศของคนที่นิยามบางส่วนของตัวเองว่าเป็นหญิง และอีกส่วนเป็นเพศอะไรก็ได้หรือไม่นิยามเพศ โดยเพศกำเนิดของเดมีเกิร์ลไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิง

Demiboy – เป็นอัตลักษณ์หนึ่งใต้ร่ม Non-binary บางครั้งก็เรียกว่า Demiguy, Demiman หรือ Demimale person คืออัตลักษณ์ทางเพศของคนที่นิยามบางส่วนของตัวเองว่าเป็นชาย และอีกส่วนเป็นเพศอะไรก็ได้หรือไม่นิยามเพศ โดยเพศกำเนิดของเดมีบอยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชาย

Androgyne – หรือ Androgynous มาจากคำภาษากรีกที่ว่า ‘ἀνδρόγυνος’ ซึ่งประกอบจากคำที่มีความหมายว่า ผู้หญิงและผู้ชาย คำนี้จึงหมายถึงการรวมกันของลักษณะความเป็นหญิงและความเป็นชาย (ที่สังคมกำหนด) ในคนคนเดียว โดยคำนี้ถูกใช้ในภาษาอังกฤษตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 และใช้อธิบายได้ทั้งเพศกำเนิด (ก็จะหมายถึง Intersex) อัตลักษณ์ การแสดงออก และรสนิยมทางเพศ แต่ในปัจจุบันใช้ในความหมายของอัตลักษณ์ทางเพศเท่านั้น
หนึ่งในไอคอนของแอนโดรไจน์ คือ ‘Ziggy Stardust’ ผู้เป็นตัวตนที่สอง (Alter Ego) ของ David Bowie ซึ่งปรากฏตัวขึ้นในปี 1972 โดยลุคที่เป็นที่จดจำของ Ziggy คือใส่ชุดบอดี้สูทแนบเนื้อ ทำผม Mullet สีแดงเพลิง และวาดรูปพระอาทิตย์สีทองบนหน้าผาก

Intergender – เป็นอัตลักษณ์ทางเพศของคนที่รู้สึกว่าตนเองอยู่ระหว่างหญิงและชาย หรือเป็นทั้งสองรวมกัน โดยเป็นอัตลักษณ์หนึ่งใต้ร่ม Non-binary เคยมีข้อถกเถียงว่าคำนี้จะใช้โดยใครก็ได้ที่รู้สึกแบบดังกล่าว หรือ ควรใช้โดยคนที่มีเพศกำเนิด Intersex เท่านั้น เพื่อให้พวกเขามีคำบ่งบอกเพศสภาพที่สอดคล้องกับร่างกาย ในปัจจุบันได้ใช้กับ Intersex เท่านั้นส่วนคนที่ไม่ใช่ Intersex จะใช้คำว่า Androgyne แทน

Nonbinary – เป็นร่มและอัตลักษณ์ทางเพศที่หมายถึงเพศสภาพที่อยู่นอกเหนือระบบ 2 เพศ หรืออยู่นอกกรอบชาย-หญิง แปลว่าคนที่เรียกตัวเองว่านอนไบนารี่สามารถนิยามตัวเองมากกว่า 1 เพศสภาพ หรือไม่นิยามด้วยเพศใดเลยก็ได้ หรือเป็นอัตลักษณ์ทางเพศใดก็ตามซึ่งมีมากมายที่อยู่ใต้ร่มนอนไบนารี่
วันที่ 14 กรกฎาคม ของทุกปี คือ International Non-Binary People’s Day เพื่อให้ตระหนักถึงการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้และใช้ #ThisIsWhatNonBinaryLooksLike เพื่อให้คนที่นิยามตัวเองว่านอนไบนารี่ได้แสดงตัวตนให้ผู้คนเห็นว่าในความเป็นนอนไบนารี่เองก็มีความหลากหลายในตัวมันเองด้วย ทั้งในด้านเชื้อชาติ ศาสนา หรือการแสดงออกทางเพศ

Questioning – เป็นอีกหนึ่งความหมายของ Q ใน LGBTQ โดยหมายถึงคนที่ยังไม่ได้นิยามตนเองว่าเป็นเพศอะไร อาจจะยังไม่แน่ใจ อยู่ระหว่างการค้นหาตัวตน หรือกังวลกับการแปะป้ายเพศที่สังคมกำหนดให้กับตนเอง พวกเขาสามารถตั้งคำถามทั้งในแง่ของความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพศอะไร ต้องการแสดงออกแบบไหน รวมไปถึงชอบเพศอะไร
แม้ว่าการหาสิ่งที่ตัวเองเป็นจะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในเป็นหลัก แต่กลุ่ม Questioning ก็อาจให้เพื่อนทดลองเรียกชื่อใหม่หรือใช้สรรพนามแทนตนเองใหม่ เพื่อให้รู้ว่าสะดวกใจกับการถูกเรียกแบบไหนมากกว่า

Homoromantic – คนที่ตกหลุมรักคนเพศเดียวกันและเชื่อมโยงกันทางอารมณ์ อาจจะมีการแสดงความรักทางกาย แต่ไม่ได้รวมไปถึงความต้องการมีเพศสัมพันธ์ด้วยเสมอไป
Steve Winter และ Thom Gray ต่างก็นิยามตัวเองว่าเป็น Asexual Homoromantic และแต่งงานกันไปเมื่อปี 2017 คนรอบตัวบอกว่าพวกเขาก็ดูเหมือนคู่รักอื่นๆ ที่ดูแลกัน ไปเดท และกอดจูบกัน พวกเขาบอกว่า “คนเรามีเซ็กซ์โดยไม่รู้สึกรักได้ แล้วทำไมจะรักกันโดยไม่มีเซ็กซ์ไม่ได้”

Biromantic – คนที่ตกหลุมรักคนเพศใดก็ได้ 2 เพศ หรือมากกว่านั้น โดยเชื่อมโยงกันทางอารมณ์ อาจจะมีการแสดงความรักทางกาย แต่ไม่ได้รวมไปถึงความต้องการมีเพศสัมพันธ์ด้วยเสมอไป

Panromantic – คนที่ตกหลุมรักโดยไม่จำกัดว่าอีกฝ่ายต้องเป็นเพศอะไร และเชื่อมโยงกันทางอารมณ์ อาจจะมีการแสดงความรักทางกาย แต่ไม่ได้รวมไปถึงความต้องการมีเพศสัมพันธ์ด้วยเสมอไป โดยวันที่ 24 พฤษภาคม ของทุกปี คือ Pansexual and Panromantic Awareness and Visibility Day ที่จะส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับเพศนี้และทำให้พวกเขาได้ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น

Aromantic – หรือเรียกอย่างย่อว่า ‘aro’ คือคนที่ไม่รู้สึกตกหลุมรักผู้อื่นและไม่ได้อยากอยู่ในสถานะ ‘แฟน’ กับใคร แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขารักไม่เป็น เพราะพวกเขายังรักและแคร์คนอื่นได้ เพียงแต่ความรู้สึกนั้นไม่ได้เป็นแบบโรแมนติกเท่านั้นเอง นอกจากนี้ Aromantic ไม่จำเป็นต้องมาคู่กับ Asexual อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดกัน
บางคนอาจจะสงสัยว่า แล้ว Aromantic จะอินเพลงรักหรือดูหนัง Rom-com สนุกอยู่ไหม คำตอบจาก Kotaline Jones นักวาดภาพประกอบและหนึ่งในเจ้าของอินสตาแกรม @justaroacethings บอกว่า “ฉันชอบวาดรูปคู่รักมากๆ และโรแมนซ์เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ” ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราเป็นกับสิ่งที่เราชอบ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป
❤️
#HarmonyOfDiversity
#PrideMonthCalendar
อ้างอิง

https://spectrumth.com/2020/06/13/pride-month-calendar/