ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ลงนามในประกาศข้อปฏิบัติส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศให้ส่วนราชการภายในจังหวัดปฏิบัติ บุคลากรสามารถแต่งกายตามเพศสภาพ การรับสมัครงานต้องไม่กำหนดคุณสมบัติที่จำกัดเพศกำเนิดหรือเพศสภาพ

ในข้อปฏิบัติ 6 ข้อที่ลงนามโดยนายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ยังระบุถึงการส่งเสริมความเสมอภาคในการสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงาน โดยคัดเลือกทั้งจากเพศชาย หญิง หรือ “ผู้ที่แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด” เข้าร่วมเป็นกรรมการในทุกระดับ

“เมื่อเราอยากให้ทุกคนมีความคิดเรื่องความเท่าเทียม ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานของรัฐ เราคิดว่าก็น่าจะเริ่มต้นที่รัฐก่อน” นายพัฒนคมน์ ภู่ประเสริฐ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จันทบุรี บอกกับบีบีซีไทย


ประกาศฉบับนี้มีชื่อว่า ข้อปฏิบัติในการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558

         นายพัฒนคมน์ กล่าวถึงที่มาของประกาศฉบับนี้ว่าเป็นการขยายผลจากการประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วย “การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ” ซึ่งผลักดันโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. ซึ่งประกาศเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา 24 องค์กร ร่วมประกาศเจตนารมณ์ หลังจากนั้น พม. ได้ขยายผลต่อไปยังส่วนราชการทั่วประเทศ โดย จ.จันทบุรี เป็นจังหวัดแรกที่ออกประกาศข้อปฏิบัตินี้แก่ส่วนราชการภายในจังหวัด

“เราไม่ควรจะปิดกั้นเรื่องนี้ ในฐานะส่วนราชการ ถ้าบุคคลนั้นมีความสามารถ เราไม่ควรเอาเรื่องของเพศสภาพ เป็นข้ออ้างหรือข้อจำกัด” พม.จันทบุรี กล่าว

รายละเอียดของข้อปฏิบัติ 6 ข้อ

– การแต่งกาย ให้บุคลากร สามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ หรือเพศภาวะของบุคคลตามข้อบังคับของหน่วยงาน

– การจัดพื้นที่ที่เหมาะสม จัดพื้นที่ที่เหมาะสมกับจำนวนของบุคคล ข้อจำกัดของบุคคล และอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศภาวะของบุคคล

– การประกาศรับสมัครงานและการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครงาน มีการระบุคุณสมบัติด้านวุฒิการศึกษา หรือความสามารถที่สอดคล้องกับลักษณะงาน ไม่ระบุโดยเพศกำเนิด หรือเพศสภาพ/ เพศภาวะ

– การใช้ถ้อย ภาษา และกิริยาท่าทางและเอกสารต่าง ๆ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรเกี่ยวกับคำศัพท์ที่เหมาะสมในการใช้เรียกอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศภาวะของบุคคล เพื่อไม่ให้เกิดการตีตรา เสียดสี หรือลดทอนคุณค่าของบุคคลทุกเพศ รวมถึงเป็นการแสดงถึงอคติทางเพศที่ไม่เคารพในสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

– การสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในหน่วยงาน ส่งเสริมให้มีการสรรหาบุคคลทั้งเพศชาย เพศหญิง หรือผู้ที่แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิดเข้าร่วมเป็นกรรมการในทุกระดับ เพื่อพัฒนาสังคมไทยไปสู่สังคมเสมอภาคอย่างแท้จริง

– การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ และจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดในการทำงาน

ความก้าวหน้าของราชการ ?

          นาดา ไชยจิตต์ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนพื่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ให้ความเห็นว่า ถือเป็นทิศทางที่ดีในการดำเนินงานเพื่อทำให้ปราศจากการรังเกียจ ตีตรา และเลือกปฏิบัติ แต่หลังจากนี้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมในจังหวัดควรติดตามการนำนโยบายตามประกาศฉบับนี้ไปปฏิบัติ

“ควรร่วมกันติดตามนโยบายนี้ว่าเมื่อประกาศใช้แล้ว ในทางปฏิบัตินั้นได้ดำเนินการตามตัวอักษรที่ปรากฎหรือไม่ มิเช่นนั้นกระดาษที่เต็มไปด้วยน้ำหมึกข้อความเจตนาดี จะไม่มีความหมาย”

อ.ดร. ชีรา ทองกระจาย อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศภาวะและความหลากหลายทางเพศ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ประกาศข้อปฏิบัติจังหวัดที่ออกมานี้ เป็นหมุดหมายที่สำคัญในการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเป็นความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม มีลายลักษณ์อักษร

“ในสังคมไทยมักพูดกันว่ามีการยอมรับ LGBT (ผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ในสังคมแล้ว แต่เราเห็นกฎระเบียบ กฎหมายที่ยอมรับและผนวกความคุ้มครอง LGBT น้อยมาก เอกสารของจันทบุรีเป็นเหมือนเสาเข็มอันหนึ่งที่ปูทางในการดำเนินการขับเคลื่อนประเด็นนี้ต่อไป อีกทั้งเป็นหน่วยงานในท้องถิ่นด้วย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อคนในพื้นที่จริง ๆ”

อ.ดร. ชีรา กล่าวถึงความสำคัญของการได้เห็นข้อปฏิบัติในหน่วยราชการเช่นนี้ว่า เมื่อเกิดการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็สามารถอ้างอิงประกาศนี้ได้เพราะเป็นหลักฐานที่ได้รับการรับรองในทางราชการแล้ว “เป็นเอกสารที่สามารถเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของ LGBT อีกมากมายที่ยังถูกกระทำละเมิดสิทธิ”

อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งกำลังทำวิจัยเรื่องความหลากหลายทางเพศในหน่วยงานรัฐ เห็นว่าก้าวนี้ยังเป็นการปูทางให้ผู้ที่ไม่กล้าเปิดเผยตัวเอง กล้าที่จะก้าวออกมา เป็นตัวของตัวเอง อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวถูกเล่นงานจากระบบราชการ กฎระเบียบเดิม ๆ องค์รัฐควรเป็นตัวอย่างในการ come out ต่อสังคม และปรับเปลี่ยนค่านิยมในองค์กรใหม่

“สิ่งที่สังคมควรเรียนรู้จากกรณีนี้คือ การ come out และเรื่อง visibility (การมองเห็นตัวตน) เราจะให้ LGBT เปิดเผยตัวตนได้อย่างภาคภูมิใจ องค์กรจำเป็นจะต้อง come out เหมือนกัน ในฐานะองค์กรที่เปิดพื้นที่ เพื่อความหลากหลายทางเพศ กล้าออกมาประกาศตัวว่าเราสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ เราไม่เลือกปฏิบัติ เราเห็นคุณค่าในตัวทุกๆ คน ทุกๆ เพศ” อ.ดร. ชีรา กล่าว

อ้างอิง : https://www.bbc.com/thai/thailand-52976117