“เพศที่สาม” เป็นคำในภาษาไทยที่ถูกใช้เรียกคนข้ามเพศมาอย่างยาวนาน ชวนให้ต้องเอะใจว่า ‘ทำไมคนข้ามเพศอยู่ในลำดับที่สาม แล้วเพศไหนอยู่ในลำดับที่หนึ่งหรือสองล่ะ?’ ด้วยความเป็นสังคมปิตาธิปไตยของเรา คำตอบของคำถามนี้จึงเป็นอะไรไปไม่ได้เลย นอกจากผู้หญิงอยู่ในลำดับสองรองจากผู้ชาย ซึ่งหนังสือ ‘The Second Sex’ โดย ‘Simone de Beauvoir’ ก็ได้วิเคราะห์ไว้อย่างลึกซึ้ง ถึงสังคมที่กดขี่ให้ผู้หญิงกลายเป็น ‘เพศที่สอง’ หรือ ‘เพศที่ด้อยกว่า’ ซึ่งหากเราปฏิเสธเรื่องหลอกลวงทางเพศที่ถูกประกอบสร้างขึ้นนี้และทำลายมุมมองที่ว่าความเป็นหญิงนั้นผูกติดมากับชีววิทยาเสมอได้ เราก็อาจจะไม่ได้แค่ประสบความสำเร็จในแง่การปลดปล่อยผู้หญิงตรงเพศ แต่ยังเป็นอีกทางหนึ่งที่ยืนยันได้ด้วยว่าทำไมตัวตนของคนข้ามเพศก็มีความจริงแท้ และไม่สมควรที่จะถูกมองว่าอยู่รองจากเพศใด
.
SPECTROSCOPE: เพศที่สอง เพศที่สาม แล้วใครเพศที่หนึ่ง
.
‘Women as the Other’ – ผู้หญิงในฐานะ ‘ความเป็นอื่น’ คือหนึ่งในแนวคิดหลักที่โบวัวร์เห็นว่าเป็นกลไกสำคัญในการกดขี่ทางเพศ โดยโบวัวร์ก็ได้ต่อยอดมาจากทฤษฎี ‘Master-slave’ ของ Georg Wilhelm Friedrich Hegel นักปรัชญาชาวเยอรมัน และกล่าวว่า ในสังคมของเรา ผู้ชายนั้นเป็น ‘Subject’ ที่มีความสัมบูรณ์ (Absolute) เป็นตัวตั้ง เป็นแบบอย่างมาตรฐานของการเป็นมนุษย์ ส่วนผู้หญิงนั้นเป็น ‘Other’ ที่ไม่ได้มีแก่นสารสำคัญ (Inessential) และเป็นรอง มีหน้าที่แค่ช่วยเหลือการก่อร่างตัวตนของซับเจกต์เท่านั้น ซึ่งความแตกต่างระหว่างความไม่เท่าเทียมทางเพศและการกดขี่รูปแบบอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ อย่างทาสหรือชาวยิว ก็คือสถานการณ์ของผู้หญิงที่ไม่ได้ตระหนักว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่กำลังประสบกับความอยุติธรรม และไม่ได้รับรู้ว่าประสบการณ์ของตัวเองนั้นเป็นความจริงที่กำลังเจอร่วมกัน เพราะฉะนั้นในการที่ผู้หญิงจะเห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียว และลุกขึ้นมาทวงคืนสถานะการเป็นปัจเจกได้ สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นคือการตีแผ่โครงสร้าง ทัศนคติ และสมมติฐานต่าง ๆ อันเป็นต้นตอของสิ่งที่ทำให้กดผู้หญิงเอาไว้
.
‘Facts & Myths’: ความจริงที่แฝงด้วยอคติ – ด้วยแรงจูงใจนี้ โบวัวร์จึงเข้าไปสำรวจมุมมองต่อผู้หญิงในองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ที่ถูกสถาปนาว่าเป็น ‘ความจริง’ ทั้งวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ หรือจิตวิเคราะห์ และก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าแต่ละแขนงก็ล้วนมีส่วนทำให้ผู้หญิงอยู่ในสถานะที่เป็นอื่น เพราะมีอคติหรือความไม่เป็นกลางที่สอดแทรกอยู่ ตัวอย่างเช่น นักชีววิทยาที่ให้น้ำหนักกับร่างกายของผู้หญิงที่แตกต่างกับของผู้ชายอย่างมากเกินไป จนเกิดเป็นความเข้าใจว่าปัจจัยทางชีววิทยาส่งผลต่อการใช้ชีวิต การกระทำ หรือลักษณะนิสัยของผู้หญิง จนไปถึงคุณค่าของผู้หญิงที่ถูกผูกติดไว้กับความสวยงามภายนอกแบบที่ไม่เป็นกับผู้ชาย เป็นต้น
.
‘Sex ≠ Gender’: ความเป็นหญิงที่ไม่ได้มาพร้อมเพศชีววิทยา – โบวัวร์เชื่อว่าองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่ได้กล่าวไปนั้น ร่วมสร้างความเข้าใจผิดเรื่อง ‘Eternal Feminine’ หรือ ‘ความเป็นหญิงที่เป็นนิรันดร์’ ซึ่งเชื่อว่าเพศหญิงมีแก่นแท้ที่อยู่ในธรรมชาติ ทุกคนเกิดมาพร้อมชุดพฤติกรรมและองค์ประกอบที่มีความคงทนถาวรไม่เปลี่ยนแปลง จนเกิดเป็นอุดมคติที่เด็กผู้หญิงทุกคนพยายามจะเป็นตามให้ได้ โดยในหนังสือเล่มนี้ แนวคิด ‘Essentialist’ ดังกล่าวก็ได้ถูกปฏิเสธไปอย่างสิ้นเชิง ผ่านหนึ่งในคุณูปการสำคัญของโบวัวร์ซึ่งก็คือแนวคิด ‘ความแตกต่างระหว่างเพศชีววิทยาและเพศสภาพ’ (Sex-gender distinction) ที่เธอได้เสนอไว้ โบวัวร์ยืนยันว่าลักษณะของเพศหนึ่งนั้นไม่ได้ผูกติดมากับเพศทางชีววิทยา แต่ ‘ความเป็นหญิง’ นั้น เกิดจากปลูกฝัง สั่งสอน และประกอบสร้างขึ้นมา ผ่านการศึกษา การเลี้ยงดู และสิ่งที่เด็กผู้หญิงซึมซับเข้าไป “คน ๆ หนึ่งไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง แต่กลายเป็นผู้หญิง” (One is not born, but becomes a woman.) ตามที่ประโยคอันโด่งดังของโบวัวร์ได้สรุปไว้เป็นอย่างดี
.
‘บทบาทการเป็นแม่ หน้าที่ในการเลี้ยงดูลูก ความรับผิดชอบเรื่องในบ้าน และเครื่องมือตอบสนองอารมณ์ความต้องการทางเพศของผู้ชาย’ คือตัวอย่างบางส่วนของความเชื่อเรื่องความเป็นผู้หญิงที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมา ผู้หญิงถูกสอนว่าจะต้องคงลักษณะที่อ่อนโยน อดทน เชื่อฟัง และเหมือนเด็กที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้อยู่ตลอด ซึ่งก็เอื้อให้ผู้หญิงถูกเอาเปรียบได้โดยระบอบปิตาธิปไตยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ลักษณะความเป็นหญิงที่ตายตัวเช่นนี้กลายเป็น ‘ข้อจำกัดในทางจิตใจ’ ที่ได้กักขังผู้หญิงมาอย่างยาวนาน ผลที่เกิดคือความเป็นปัจเจกถูกขัดขวาง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายที่ถูกหล่อหลอมให้ก้าวข้ามเงื่อนไขทางกายภาพ (Transcendence) และเป็นผู้ริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ผู้หญิงนั้นถูกผูกติดอยู่กับเรื่องทางวัตถุและร่างกาย (Immanence) ถูกบีบให้อยู่ในขอบเขตหน้าที่เดิม ๆ ที่ค่อนข้างซ้ำซากจำเจ และต้องละทิ้งบทบาทการเป็นผู้สรรสร้างไปโดยปริยาย สำหรับผู้หญิง ร่างกายตัวเองมีความหมายแค่ที่สังคมกำหนดให้และไม่ถูกสนับสนุนให้เชื่อในศักยภาพของตัวเอง
.
‘Bad faith’: ความสุขจากสิ่งที่คงเดิม – อย่างไรก็ดี ไม่สามารถพูดได้ว่าผู้หญิงไม่มีส่วนผิดกับการที่เธอต้องอยู่ในสถานะเช่นนี้ เพราะผู้หญิงหลายคนยังพอใจมากกว่ากับการหลอกตัวเอง (Bad faith) หรือการเลือกที่จะอยู่กับความเชื่อแบบเดิมที่มีอยู่แล้ว (ในกรณีนี้ก็คือความเชื่อที่ว่าผู้หญิงเป็น The other) นี่ก็เพราะบางคนได้ประโยชน์และมีความสุขจากการใช้ชีวิตแบบที่ไม่ต้องตัดสินใจ ไม่ต้องมีอำนาจเหนือตัวเอง จึงเลือกที่จะไม่เผชิญหน้าความจริงเรื่องความอยุติธรรม เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบบางอย่างหากมีอิสระและมีสถานะทัดเทียมกับผู้ชายแล้ว ซึ่งบางทีการอยู่แบบเป็นส่วนเติมเต็มของผู้ชายก็เป็นหนทางเดียวที่ผู้หญิงคนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองเองจะสามารถมีความสุขได้ในสถานการณ์ของเธอ โบวัวร์เองก็เล็งเห็นว่าโครงสร้างสังคมแบบทุนนิยมทำให้การใช้ชีวิตอย่างอิสระและการพึ่งพาตัวเองของผู้หญิงนั้นไม่ง่ายเลย
.
เมื่อ ‘ผู้หญิง’ คือคนที่จะปลดปล่อยผู้หญิง – เป้าหมายหลักของโบวัวร์ในการนำเสนอแนวคิดในหนังสือ The Second Sex ก็คือการสำรวจต้นตอของการกดขี่ทางเพศและกลไกที่เกี่ยวข้องในการหล่อหลอมความเป็นหญิง โดยมีเป้าหมายให้ผู้อ่านได้ตระหนักและรับรู้ถึงการประกอบสร้างความเป็นหญิงที่กดทับตัวเองอยู่ และใช้ความเข้าใจเหล่านั้นเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อต่อสู้ร่วมกันให้หลุดพ้นจากกรอบของสังคม นี่ก็เพราะโบวัวร์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมี ‘เสรีภาพ’ ในการกำหนดชีวิตและตัวตนตามแต่เดิมอยู่แล้ว ซึ่งผู้ที่จะต้องรับหน้าที่ของการปลดปล่อยทางเพศก็ไม่ใช่ใครเลยแต่คือผู้หญิงเอง ผู้หญิงต้องปฏิเสธความยั่วยวนของความสุขสบายแบบเดิมให้ได้และกล้าเสี่ยงกับผลที่จะตามมา รวมไปถึงสลัดความเชื่อที่ว่าจะเป็นปัจเจกอย่างเต็มตัวต้องเป็นเหมือนผู้ชายเท่านั้น ตลอดจนการขัดเกลาของสังคมที่ทำให้เธอ ‘เป็นผู้หญิง’
.
อย่างไรก็ดี โบวัวร์เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมด้วย คือผู้หญิงต้องได้รับการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมกับโลกภายนอก และได้รับโอกาสในการคิด ริเริ่ม และทำงานต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย เพื่อที่ในท้ายที่สุดผู้หญิงจะได้มีอิสระทางการเงินและไม่ต้องใช้ชีวิตไปกับการส่งเสริมเติมเต็มผู้ชายอีก
.
แนวคิดของโบวัวร์กับความเป็นผู้หญิงข้ามเพศ – ถึงแม้ว่าในหนังสือ The Second Sex โบวัวร์จะไม่ได้กล่าวถึงผู้หญิงข้ามเพศหรือการผนวกคนกลุ่มนี้เข้ามาในการต่อสู้ของเฟมินิสต์โดยตรง แต่ด้วยข้อเสนอหลักของเธอที่ว่าความเป็นผู้หญิงไม่ได้ถูกกำหนดโดยหลักชีววิทยา แต่คือการหล่อหลอมของสังคม ทำให้มองได้ว่าคนที่ไม่ได้มีเพศกำเนิดหญิงหรือไม่ได้มีลักษณะที่ถูกนับว่าเป็นหญิงตามหลักชีววิทยา ก็สามารถเป็นผู้หญิงได้เช่นกันหากเลือกที่จะนิยามและใช้ชีวิตเช่นนั้น อีกทั้งโบวัวร์ยังปฏิเสธอย่างเด็ดขาดว่าไม่มีซับเจกต์คนไหนที่เต็มใจในการ ‘เป็นอื่น’
.
เพราะฉะนั้นแล้ว ในขบวนการเฟมินิสต์ นอกเหนือจากการสร้างความเท่าเทียมและยกผู้หญิงออกจากสถานะความเป็น ‘เพศที่สอง’ แล้ว ก็ต้องไม่ลืมที่จะปฏิบัติและเคารพผู้หญิงข้ามเพศในฐานะ ‘ผู้หญิง’ เช่นเดียวกัน ในเมื่อคำว่า ‘สาวสอง’ หรือ ‘เพศที่สาม’ ไม่เพียงเป็นการบอกว่าคนข้ามเพศไม่ใช่เพศที่พวกเขานิยามจริง ๆ ตามสำนึกคิด แต่ยังเป็นการกดคนข้ามเพศให้ต่ำกว่าคนตรงเพศโดยนัยผ่านโครงสร้างทางภาษา ถึงเวลาแล้วหรือยังเราควรที่จะละทิ้งคำเรียกและการจัดลำดับขั้นทางเพศเหล่านี้?
.
#TheSecondSex #SimoneDeBeauvoir
#SocialConstructionofGender #SecondWaveFeminism
#Spectroscope #WeScopeForYou
.
Content by Preeyanun Thamrongthankij
Graphic by Napaschon Boontham
สนทนาเรื่องเพศได้ที่กลุ่ม ‘เพศ’: https://bit.ly/2LKTzTg
อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่น ๆ: https://bit.ly/3hhRUzp
.
อ้างอิง
Internet Encyclopedia of Philosophy:
http://bit.ly/3cfBExp
Stanford Encyclopedia of Philosophy:
http://stanford.io/2OyBU2u
หนังสือ Thinking Women:
A Philosophical Approach to the Quandary of Gender
โดย Jennifer Hockenbery Dragseth
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน