แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะยังไม่อนุมัติกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้กับคู่รัก LGBTQ แต่เนื่องในวันวาเลนไทน์ ทางสำนักงานเขตบางขุนเทียน ได้เปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQ สามารถจดทะเบียนสมรสด้วยกันได้อย่างเสรี เพื่อร่วมกันผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียมให้ถูกกฎหมายในอนาคต

พงษ์จักรินทร์ ถาวรพงษ์ ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน เผยว่ากิจกรรมจดทะเบียนสมรสในวันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2565) เปิดโอกาสให้คู่รักทุกเพศที่อายุ 20 ปีขึ้นไป และไม่เคยมีคู่สมรสมาก่อน สามารถมาจดทะเบียนสมรสร่วมกันได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQ สามารถจดทะเบียนสมรสด้วยกันได้อย่างเสรี ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจมาร่วมจดทะเบียนกว่าร้อยคน

“การจัดงานนี้เป็นพื้นที่กับคนที่เป็น LGBTQ ในระหว่างรอกฎหมายสำหรับคู่รักเพศเดียวกันให้มีผลบังคับใช้ในอนาคต ได้มีการแสดงออกหรือต้องการให้รับรู้ถึงการใช้ชีวิตร่วมกันเหมือนบุคคลทั่วไป ซึ่งไม่มีผลบังคับทางกฎหมายที่ผูกพันใดๆ แต่เป็นการแสดงออกเพื่อส่งเสียงไปยังกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็น LGBTQ ให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากในประเทศไทย และยังรอความเท่าเทียมในทางกฎหมาย”

ปาร์ค คู่รัก LGBTQ เผยกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ว่าตนเองและคู่รักคบหากันมานานถึง 17 ปีแล้ว เริ่มต้นจากการทำงานในที่เดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาใดๆ กับครอบครัวและคนรอบข้าง เพราะโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลตนเองได้แล้ว ทุกคนจึงให้อิสระในการตัดสินใจ

“สาเหตุที่มาจดทะเบียนสมรสในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการแสดงออกให้สังคมรับรู้ว่าเพศไหนก็จดทะเบียนอย่างถูกต้องได้ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย และถ้ารอให้กฎหมายผ่านการอนุมัติก็ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ การจดทะเบียนสมรสกับเพศเดียวกันควรทำให้เป็นเรื่องปกติในสังคมและไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เป็นการแสดงออกให้รู้ว่าทุกคนควรมีสิทธิเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องแฟชั่นหรือกระแส”

เมื่อถามถึงพิธีแต่งงานทางปาร์คได้ให้ความเห็นว่ายังไม่คิดจัดพิธีในตอนนี้เพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ส่วนเรื่องการมีลูกก็ไม่อยากมีเช่นกัน เพราะอยากใช้ชีวิตด้วยกันกับคู่รักแบบอิสระ จึงไม่ต้องการมีลูกเป็นเครื่องผูกมัด

ด้าน วิสุ คู่รัก LGBTQ อีกคู่หนึ่ง ก็ให้ความเห็นว่าการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมจะช่วยให้คู่รัก LGBTQ ได้สิทธิประโยชน์ทางด้านกฎหมายและการใช้ชีวิตร่วมกันในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น การซื้อที่อยู่อาศัยร่วมกัน เรื่องสินสมรส การดูแลกันและกัน ที่ต้องมีเรื่องเอกสารและกฎหมายต่างๆ มาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการแสดงออกด้วยการจดทะเบียนสมรสในครั้งนี้จึงหวังว่าจะช่วยส่งผลถึงกฎหมายเท่าเทียมในอนาคตด้วย

วิสุ ได้คบหากับคู่รักเป็นเวลา 11 ปีแล้ว โดยรู้จักกันในที่ทำงาน ซึ่งครอบครัวและคนรอบข้างทั้งสองฝ่ายไม่เคยมีการคัดค้านแต่อย่างใด เพราะมองว่าโตเป็นผู้ใหญ่จึงสามารถดูแลตนเองได้แล้ว ขณะเดียวกันก็ไม่มีแผนที่จะมีลูกหรือรับเด็กมาเลี้ยง เพราะอยากใช้ชีวิตร่วมกันกับคนรักแบบดูแลกันและกันมากกว่า จึงไม่ได้ต้องการมีลูกเพื่อมาเติมเต็มช่องว่างใดๆ

แม้ว่ากิจกรรมการจดทะเบียนสมรสกับคู่รัก LGBTQ ในครั้งนี้จะยังไม่มีผลใดๆ ทางกฎหมายก็ตาม แต่เพื่อเป็นการร่วมกันผลักดันให้สังคมเกิดการรับรู้ว่ายังมีคู่รัก LGBTQ อีกจำนวนมากที่ให้ความสำคัญกับการสมรสเท่าเทียมอย่างถูกกฎหมาย และคาดว่าจะช่วยส่งผลให้กับผู้ที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ให้สังคมยกประเด็นของกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาถกกันว่า ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยควรจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้เหมือนกับหลายประเทศ

ที่มา https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2315950