เป็นช่วงเวลาที่เสียงเรียกร้องหลายประเด็นทางสังคมน่าจะได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่ควรรองรับอนาคต “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” ร่วมทวงถามหนึ่งนโยบายสู่ความเป็นสากลด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง นโยบายสิทธิความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ซึ่งภาคการเมืองเริ่มพูดถึงมากขึ้น แต่ในมุมผู้มีบทบาทเคลื่อนไหวจะมีความคิดเห็น ข้อเสนอแนะอย่างไรในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ “กิตตินันท์ ธรมธัช” หรือ แดนนี่ นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ร่วมสะท้อนสถานการณ์สิทธิความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงความก้าวหน้าของกฎหมายที่ควรจะเป็น

ไทยยังตกหล่นการรับรองสิทธิความหลากหลาย

กิตตินันท์ กล่าวถึง การรับรองสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในอดีตกว่า 30 ปีก่อน ถูกมองเป็นกลุ่มวิปริตผิดเพศ แต่หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองว่า พวกเราไม่ใช่คนที่เจ็บป่วยทางจิต กระทั่งพยายามค้นหากันจนพบว่าแท้จริงเราก็เท่ากับมนุษย์ชาย-หญิง การค้นพบนี้นำไปสู่หลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งหมายรวมถึง “ความเป็นคน” และเมื่อเป็นคนแล้วก็ควรได้รับสิทธิเท่ากันกับทุกคน ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนงานทั้งด้านสาธารณสุข ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรืออนุสัญญาต่าง ๆ

สิ่งเหล่านี้ล้วนพูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อาทิ กฎหมายและความเท่าเทียมเสมอภาค ตามมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า เราต้องมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ขณะที่มาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญ ก็ระบุว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใดจะ “กระทำมิได้”

จากนั้นนำแนวคิดทั้งสองมาขยายต่อว่าแล้วยังขาดอะไร ซึ่งพบสิ่งที่ขาดคือ ข้อบัญญัติของกฎหมายที่ไม่สามารถรับรอง “ความเป็นธรรมชาติ” ของเราและหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ตีแผ่อุปสรรค ทำไม่ถึงฝันความเท่าเทียม

กิตตินันท์ ชี้หลักการแห่งการเลือกปฏิบัติ 4 ข้อใหญ่ คือ 1.ความไม่รู้ ไม่ตระหนักเรื่องกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และยังขาดองค์ความรู้ 2.ความเกลียดชัง เกลียดกลัว ซึ่งอาจเป็นกรณีที่บุคคลใดทำร้ายร่างกายเพศที่สามด้วยความไม่ชอบส่วนตัว 3.ค่านิยม ความเชื่อ ทัศนคติ วัฒนธรรม และจารีตประเพณี เช่น กรณีศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการแต่งงานของเพศชาย-หญิงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วมีไว้เพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ แต่ถ้าในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ขอให้ไปออกกฎหมายเฉพาะแทน 4.กฎระเบียบ และนโยบาย ที่ไว้คุ้มครองเฉพาะผู้ที่มีรักต่างเพศเท่านั้น

นี่คือภาพรวมอุปสรรคที่พยายามคลี่คลายทีละปม เพื่อหาทางออกให้มากที่สุด จากนั้นนำไปสู่การออกแบบความคิดและเครื่องมือที่จะทำให้ 4 ข้อนี้ไปถึงมือของผู้กำหนดนโยบาย ประกอบด้วย ผู้มีส่วนได้ส่วนใหญ่ 4 ส่วน 1.ผู้กำหนดนโยบาย เช่น สถาบันพรรคการเมือง รัฐบาล รัฐสภา 2.ภาคองค์การระหว่างประเทศ เพื่ออ้างอิงโมเดลต่าง ๆ 3.ภาคประชาสังคมและเครือข่าย เพื่อรณรงค์ 4.ผู้ที่มีปัญหาในชุมชน เพื่อนำไปสู่ผลิตผลทางกฎหมาย

“ไขก๊อก” จัดสรรอำนาจ เพิ่มโควตามีส่วนร่วมออกกฎหมาย

กิตตินันท์ เผยถึงความพยายามเรียกร้องการเข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณากฎหมาย แต่ด้วยสัดส่วนที่ไม่ได้ระบุโดยชัดเจนว่าจะมีอำนาจเท่าไหร่ แม้กระทั่งประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่มีภาคประชาสังคมเข้าไปนั่งเพียงเก้าอี้เดียว อีกทั้งในชั้นกรรมาธิการก็ไม่ได้มีโควตาที่ภาคประชาสังคมจะไปร่วมพิจารณาในส่วนนี้ เช่น กฎหมายคู่ชีวิต สมรสเท่าเทียม ที่มีการโหวตผ่านไปในวาระหนึ่ง เมื่อโหวตเสร็จมีการตั้งคณะกรรมาธิการ 25 คน แต่ภาคประชาสังคมก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ส่วนตัวมองไม่สมเหตุผล จึงเห็นควรเรียกร้องให้ทุกกระบวนการออกกฎหมายจากนี้ ควรมีภาคประชาสังคมเข้าไปอยู่ในทุกขั้นตอน

ฉายปัญหาตำราเรียน ยกเครื่องหลักสูตรแกนกลาง

กิตตินันท์ ระบุ ในอดีตหลักสูตรการศึกษาเคยเขียนไว้ว่า ความเบี่ยงเบนทางเพศเป็นความผิดปกติ เป็นความก้าวร้าว ไม่ควรมีที่ยืนในสังคม อาจสร้างความเดือดร้อน ตรงนี้คือความรุนแรงและเหยียดเพศ ซึ่งต่อมาตนเสนอปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 โดยบรรจุหลักสูตรความหลากหลายทางเพศตั้งแต่ชั้น ป.1-6 ไม่ใช่เริ่มที่ชั้นมัธยมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เพราะหลักสูตรเก่ายังไม่ถูกยกเลิก และหลักสูตรใหม่ก็มีอยู่ ขณะนี้มากกว่า 60 จังหวัด จึงยังคงมีโรงเรียนหลายแห่งใช้หลักสูตรเดิม บางแห่งใช้หลักสูตรใหม่ทั้งหมด เกิดความผสมปนเปกัน

“การทำแบบเรียนสำเร็จมาจากการอ้างอิงกฎหมายเพียง 2 ฉบับ ซึ่งอยู่ในคำนำหนังสือแต่ละเล่ม โดยใช้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 แต่แท้จริงหลักสูตรแกนกลางฯตนมองเปรียบเหมือนรัฐธรรมนูญการศึกษาที่ถูกแขวนทิ้งไว้บนหิ้ง เหมือนพระปลอมที่ยังต้องกราบไหว้บูชา ทำให้ตัวหลักสูตรเก่าถูกยกเลิกไม่ได้ เพราะหลักสูตรแกนกลางฯยังคงครอบไว้”

ทั้งนี้ หากสามารถเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแกนกลางฯได้ เด็กทุกคนจะได้เรียนและเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่ควรทำคู่ขนานด้วยคือ การอบรมครูทั่วประเทศ และต้องมีคู่มือการสอน บุคลากรในโรงเรียนหรือสถาบันครอบครัวต้องยอมรับตัวตนของเด็กโดยไม่มุ่งหวัง คาดคั้นให้เด็กต้องพิสูจน์ผ่านความสำเร็จหรือเครื่องหมายความดี

กิตตินันท์ เผยมุมมองที่ครอบครัวมักพูดกับบุตรหลานว่า เขา/เธอ จะเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่เป็นคนดีหรือคนเก่ง แสดงว่าคนที่พูดยังไม่สามารถแยกแยะระหว่างเพศสภาพและพฤติกรรม ต้องย้อนถามว่าหากบุคคลนั้นเป็นเพศที่สามและก่อเหตุปล้นทรัพย์ทุกวัน ลักษณะเช่นนี้ก็เป็นไปได้พอ ๆ กับบุคคลที่ไม่ใช่เพศที่สาม ก่อเหตุปล้นทรัพย์ทุกวัน

“ความดี ความชั่ว ความเก่งอยู่ที่พฤติกรรมมนุษย์ แต่เพศสภาพมันเกี่ยวกับสิทธิที่ติดตัวมาแต่กำเนิด หากเป็นบุคคลที่แยกแยะได้ มักจะตอบว่า แม้ว่าบุตรจะเป็นเพศไหนก็ไม่มีปัญหา ขอแค่มีความสุข พวกเขาจะใช้ความสุขของบุตรมาแทนความดี ความเก่ง”

พร้อมย้ำไม่ควรให้เด็กต้องพิสูจน์อะไรมากมายขนาดนี้ เพื่อก้าวข้ามเรื่องเพศ ให้ได้รับการยอมรับจากสังคม และยังถือเป็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัวผ่านการตีกรอบบังคับจากทัศนคติตัวเอง…

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/articles/2195309/