หลังจากต่อสู้กับการติดเชื้อเอชไอวีมาอย่างยาวนาน ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายล่าสุดในการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือไม่เกินปีละ 1,000 คน จากเกือบ 5,000 คนในขณะนี้

ส่วนเป้าหมายอีก 2 ข้อ คือ ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้เหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย จาก 11,882 ราย/ปี (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2562) และลดการรังเกียจและการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะ

วันเอดส์โลกปีนี้ บีบีซีไทยพาไปสำรวจหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อไอวีรายใหม่ลงนั่นคือ “ยาเพร็ป” (PrEP) หรือยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-exposure prophylaxis) ซึ่งมีรายงานว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้สูงถึง 99%

ประเทศไทยเริ่มนำยาเพร็ปมาใช้ป้องกันเอชไอวีตั้งแต่ปี 2557 มาถึงวันนี้ ยาเพร็ปมีส่วยช่วยในการยับยั้งการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน และสถานการณ์เอชไอวี/เอดส์ในบ้านเราเป็นอย่างไร

หกปีแห่งความพยายาม

วงการแพทย์ได้ข้อสรุปว่ายาเพร็ปสามารถป้องกันเอชไอวีได้ 99% ในปี 2554 หลังจากนั้น 3 ปี คือในปี 2557 ประเทศไทยก็เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่นำเพร็ปเข้ามาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยมีแนวทางการใช้ออกมาในเดือน ต.ค. และเริ่มมีการใช้งานจริงในเดือน ธ.ค. 2557

แนวทางการใช้ยาระบุว่าเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีให้ได้ผล ผู้รับยาจะต้องกินยาทุกวัน ๆ ละ 1 เม็ด

ในช่วงแรกมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่รู้ตัวว่าตัวเองมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น ไม่สามารถใช้ถุงยางอนามัยได้ 100% มาซื้อยาเพร็ปได้ที่คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย ซึ่งขณะนั้นจำหน่ายยาเพร็ปในราคาเม็ดละ 30 บาท โดยเภสัชกรจะจำหน่ายยาให้ครั้งละ 90 เม็ด นั่นหมายถึงว่าผู้ใช้จะต้องจ่ายเงิน 2,700 บาททุก ๆ 3 เดือน ดังนั้นผู้ที่จะใช้ยานี้ได้จึงต้องมีกำลังทรัพย์พอสมควร

ต่อมาในปี 2559 สภากาชาดไทยเริ่มขยายบริการเป็นการให้ยาเพร็ปฟรี โดยใช้งบประมาณจัดหาจากเงินบริจาคและแหล่งเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ ทำให้องค์กรชุมชนในหลายจังหวัดทั่วประเทศสามารถนำยาเพร็ปไปแจกจ่ายผู้ที่มีความเสี่ยงได้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น พนักงานบริการทางเพศ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย กลุ่มสาวประเภทสอง และแรงงานข้ามชาติที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการบริการทางเพศ

“คนที่มีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อเอชไอวีมักจะเป็นคนที่มีอำนาจทางสังคมและเศรษฐกิจน้อยอยู่แล้ว ถ้าเราไปรอให้เขามีอำนาจทางการเงินเพื่อที่จะมาจ่ายค่ายาเพร็ปเพื่อป้องกันตัวเองก็เท่ากับว่าเราปล่อยให้พวกเขาเสี่ยงรับเชื้อใหม่อยู่เรื่อย ๆ” ” พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี อดีตหัวหน้าหน่วยป้องกัน ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวกับบีบีซีไทย

ช่วงปี 2560-2561 เริ่มมีการจ่ายยาเพร็ปในโรงพยาบาลของรัฐ จนมาถึงปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 6 ที่ไทยเริ่มให้บริการเพร็ป มีคนที่ได้รับยาเพร็ปจำนวน 12,713 คน ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอดส์) ตั้งไว้สำหรับประเทศไทยคือต้องมีผู้ได้รับยาเพร็ป 140,000 คน โดยคำนวณจากลุ่มคนที่มีความเสี่ยง

“ถึงแม้ว่ายอด (ผู้รับยาเพร็ป) จะไม่ถึง 10% ของเป้าหมายที่วางเอาไว้ แต่เมื่อดูสถิติของการติดเชื้อรายใหม่โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีคนกินยาเพร็ปเยอะที่สุดในประเทศไทย เริ่มเห็นว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ได้เพิ่มขึ้น และเริ่มเห็นแนวโน้มว่าตัวเลขลดลงในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสองในพื้นที่กรุงเทพฯ” พญ. นิตยาอธิบาย

พญ. นิตยา บอกกับบีบีซีไทยว่าสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในไทยเริ่มลดลงตั้งแต่เริ่มมีการใช้ยาเพร็ปในประเทศไทย ข้อมูลหนึ่งที่ยืนยันในเรื่องนี้ได้คือ ในปี 2553 พบว่า 20% ของกลุ่มชายรักชายที่เข้ามาตรวจหาเอชไอวีจะมีผลเป็นบวก แต่ตอนนี้จะตรวจเจอที่ 7-8%

พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี
คำบรรยายภาพ,พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี

นอกจากนี้ สถิติด้านอุบัติการณ์ของโรคลดลง กล่าวคือ ในปี 2553 ผู้ที่เคยมาตรวจเลือดในปีก่อนแล้วไม่พบเชื้อ แต่เมื่อมาตรวจในปีต่อมาพบว่าผลเลือดเป็นบวกอยู่ที่ 6% แต่ขณะนี้ตัวเลขอุบัติการณ์ลดลงมาเหลือที่ 2-3%

“เราทำงานด้านการป้องกันกันมาแทบตายแต่ตัวเลขก็ไม่ได้ดีขึ้น จนมามียาเพร็ป เราเริ่มเห็นตัวเลขอุบัติการณ์ลดลงเมื่อปีที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่ตัวเลขไม่เคยลดลงมาต่ำกว่า 5% มาก่อนเลย” พญ. นิตยากล่าว แต่เธอก็ย้ำว่าเพร็ปจะไม่ได้ผลเลยถ้าเราไม่สามารถทำให้คนกินได้เยอะ และขยายบริการได้อย่างรวดเร็วเพียงพอที่จะครอบคลุมคนจำนวนมากพอที่จะทำให้เห็นผลลัพธ์ของมัน

เธอเปรียบยาเพร็ปว่าเป็นเหมือนการฉีดวัคซีนโควิด-19 คือถ้าหากมีกลุ่มประชากรได้รับวัคซีนจำนวนไม่มากพอ และไม่มีการฉีดวัคซีนเป็นประจำอย่างต่อเนื่องก็ไม่สามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้

“เอชไอวีก็เหมือนกัน คนที่มีความเสี่ยง (ติดเชื้อ) ทุกคนต้องได้เข้าถึงเพร็ป”

อย่างไรก็ตาม เธอย้ำว่าแม้จะป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้สูง แต่คนที่กินยาเพร็ปก็ยังมีโอกาสติดเชื้อเช่นกัน

ข้อมูลบนเว็บไซต์ของ Global PrEP Tracker ระบุว่าทั่วโลกมีคนกินเพร็ปทั้งหมดอยู่ที่ 775,000 คน และมีกลุ่มคนที่กินยาเพร็ปอย่างมีวินัยต่อเนื่องมาตลอดพบว่าติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด 7 คน

“เราก็ยังคงต้องเน้นย้ำเสมอว่าเพร็ปไม่สามารถป้องกันเอชไอวีได้ 100% ในขณะเดียวกันคนที่ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งก็สามารถป้องกันเชื้อเอชไอวีได้เพียง 70 – 80% เท่านั้น” พญ.นิตยากล่าว

“ตกลงกันว่าจะกินทั้งคู่”

ประสบการณ์ติดล็อกดาวน์ ของหนุ่มสวีดิช วัย 25 ปี หลังตั้งใจมาเรียนดำน้ำเมื่อช่วงเดือน ก.พ. ไม่ใช่เพียงความทรงจำเดียวของเขาที่เกิดขึ้นในไทย แต่ยังรวมถึงการได้ทานยาเพร็ปครั้งแรกอีกด้วย เมื่อเขามีโอกาสได้ตกลงคบหากับชายอีกคนหนึ่ง และตั้งใจจะย้ายเข้ามาอาศัยร่วมกัน ทั้งคู่จึงตกลงที่จะเข้ารับการตรวจเชื้อเอชไอวี ซึ่งผลออกไม่พบเชื้อ แต่ทั้งก็ตั้งใจเริ่มต้นทานยาเพร็ปตลอดช่วงการคบหาควบคู่ไปด้วย

“ครั้งแรกที่กินเป็นยาของแฟน เขาซื้อมาจากร้านขายยา จำไม่ได้ว่าเท่าไหร่แต่แพง ก่อนที่ตอนหลังจะไปรับที่สภากาชาดเอง”

เล่าย้อนกลับไปสมัยวัยรุ่น เขารู้จักยาชนิดนี้ครั้งแรกก็จากแอปพลิเคชันสนทนาที่ระบุว่า “Negative on PrEP” นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาหาข้อมูลเรื่องนี้ แต่ไม่เคยจำเป็นต้องใช้ ด้วยไม่ได้มีพฤติกรรมเข้าข่ายเสี่ยง และการใช้ครั้งแรกก็เกิดจากความตั้งใจไม่ใช้ความผิดพลาด

“ที่สวีเดนตอนนั้นก็ยังเข้าถึงยากนะ จะกินก็ต้องหาหมอถามโน่นนี่ก่อน ให้เฉพาะคนที่เสี่ยงจริง ๆ ถ้าไปเจอคนที่กินก็จะไม่อยากยุ่ง รู้สึกไม่เอาเด็ดขาด เขาคงเปลี่ยนคู่นอนมาเยอะ”

เขาย้ำตลอดการสนทนาว่า “ผมไม่มีทางไว้ใจใคร” ด้วยประสบการณ์ที่เคยได้รับเชื้อซิฟิลิสจากแฟนที่เคยคบหาก่อนหน้า จึงทำให้เขาใส่ใจที่จะตรวจหาเชื้อและโรคติดต่อต่าง ๆ เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันจนเอง รวมถึงรับผิดชอบต่อคู่นอนของเขาด้วย ถึงแม้เขาจะใส่ใจมากถึงเพียงนี้แล้ว เขาก็ยังเคยผ่านประสบการณ์การเป็นโรคติดต่ออย่างหนองใน หนองในเทียม และอื่น ๆ

“ถึงจะกินยา ผมก็จะใส่ถุงยางนะ น้อยมากที่จะไม่ต้องไว้ใจมากจริง ๆ” แต่เขายอมรับว่าการกินยาเพร็ปมีส่วนทำให้ไม่เคร่งครัดเรื่องการใส่ถุงยาง เพราะมีความกังวลเรื่องการติดเชื้อไอชไอวีน้อยลง

เขาเล่าถึงคนรอบข้างว่า มีจำนวนไม่น้อยที่การทานเพร็ปทำให้ลดการใส่ถุงยาง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจ

เขาให้ความเห็นต่อการเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในไทยว่า “ค่อนข้างยุ่งยาก” ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่มักถามถึงสัญญาณอาการเบื้องต้นถึงจะได้รับการตรวจ ซึ่งมีหลายโรคที่ไม่ปรากฏอาการแม้จะได้รับเชื้อแล้ว ยิ่งทำให้เพื่อนคนไทยหลายคนไม่นิยมเข้ารับการตรวจสม่ำเสมอ และค่าบริการก็ถือว่าสูง หลายคนจึงมักไปหาซื้อยาฆ่าเชื้อมารับประทานเอง โดยเชื่อว่าจะป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

โดนตีตรา

ภานุศาสตร์ พูนเกษตรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิแอ็พคอม (APCOM) ประเทศไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ในเอเชียที่ได้เริ่มใช่เพร็ปเป็นเครื่องมือในการป้องกันเชื้อเอชไอวี แต่ตั้งแต่วันที่ไทยได้รับยาตัวนี้เข้ามาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีคนเข้าถึงยาเพร็ปได้ไม่มาก ทั้ง ๆ ที่ยาเพร็ปมีราคาลดลงจากเม็ดละ 30 บาท เหลือ 20 บาท หรือจากที่ต้องจ่ายค่ายาเดือนละ 900 บาท เหลือ 600 บาท

“ตอนนี้ยาเพร็ปกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาบรรจุเข้าบริการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้าไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาก่อน คนไทยคงได้รับยาเพร็ปผ่านการประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปแล้ว” ภานุศาสตร์กล่าว

เขาให้ข้อมูลว่านอกจากไทยแล้ว ในภูมิภาคนี้ยังมีประเทศเวียดนามที่ใช้เพร็ปเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี

หลอดตรวจเลือดหาเอชไอวี

“ถึงแม้เวียดนามจะเริ่มใช้ยาเพร็ปช้ากว่าเรา คือเพิ่งเริ่มใช้เมื่อปี 2561 แต่ตอนนี้คนที่ใช้ยาเพร็ปในเวียดนามอยู่ที่ 11,000 คน ซึ่งกำลังจะแซงประเทศไทยไปแล้ว” นายภานุศาสตร์กล่าว

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้เข้าถึงยาเพร็ปในไทยเพิ่มขึ้นช้าคือ “การตีตรา”

ถึงแม้ว่าการยุติการตีตรากลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ แต่จากข้อมูลจากศูนย์รวมข้อมูลสารสนเทศด้านเอชไอวีของประเทศไทยพบว่าคนไทยยังมีทัศนคติเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่มากถึง 58.6% ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่คนที่ต้องการจะรับบริการเพร็ปกลัวกับการที่ต้องเข้าใช้บริการในโรงพยาบาล

พญ. นิตยากล่าวว่าคนไม่นิยมเข้าไปรับบริการยาเพร็ปตามโรงพยาบาล เพราะหลายคนเชื่อว่าโรงพยาบาลมีเอาไว้สำหรับคนป่วย จึงไม่มีใครอยากเดินเข้าไปในโรงพยาบาลแล้วเข้าไปแจ้งว่าเขามีความเสี่ยงสูง และยังมีความไม่มั่นใจว่าจะถูกตัดสินจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ใช้บริการบางคนหรือไม่

“เป็นเรื่องยากที่จะใช้โรงพยาบาลเป็นจุดบริการของเพร็ป เพราะคนที่อยากรับบริการก็ไม่อยากรู้สึกว่าโดนเลือกปฏิบัติหรือถูกตัดสินโดยสายตาจากคนที่ไม่ได้เข้าใจบริบทของชีวิตของเขา”

มีรายงานว่าจากจำนวนผู้รับบริการเพร็ปทั้งหมด มีมากถึง 60% ที่รับยาจากองค์กรภาคประชาสังคม และมีเพียงแค่ 15% ที่รับบริการจากโรงพยาบาล และที่เหลือก็คือกลุ่มคนที่สามารถจ่ายเงินซื้อยาเองได้

“จากสถิติที่ออกมาทำให้เห็นชัดเจนว่าการขยายบริการให้ครอบคลุมและทั่วถึงคนนั้นคือผ่านองค์กรทางสังคมและหน่วยบริการชุมชน ที่ให้บริการโดยคนที่เข้าใจบริบทชีวิตของคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง” พญ. นิตยาให้ความเห็น

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์พุ่ง

จากรายงานการเฝ้าระวังโรคประจำปี 2560 ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แสดงให้เห็นว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในประเทศไทย และจำนวนผู้ป่วยซิฟิลิสนั้นก็พุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะมีคนติดเชื้อแต่ไม่รู้ตัวเป็นจำนวนมาก และไม่เคยผ่านการตรวจคัดกรองโรค ทำให้แพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว โดยกลุ่มที่ติดเชื้อมากที่สุดเป็นกลุ่มของวัยรุ่นที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาถึงมหาวิทยาลัย

ข้อมูลจากการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ปี 2560 พบว่าวัยรุ่นมีแนวโน้มในการมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น คือ มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกที่อายุ 13 ปี โดยร้อยละ 30 ไม่ใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ทำให้เห็นว่าวัยรุ่นยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ซึ่งจะทำให้วัยรุ่นติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงเอชไอวี และการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม

ประติกรรมทรายบนชายหาดแห่งหนึ่งในอินเดีย เนื่องในวันเอดส์โลกประจำปี 2020
คำบรรยายภาพ,ประติกรรมทรายบนชายหาดแห่งหนึ่งในอินเดีย ร่วมรณรงค์ยุติปัญหาเอดส์ เนื่องในวันเอดส์โลกประจำปี 2020

พญ. นิตยาอธิบายว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผู้เข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ที่รับยาเพร็ป

“กลุ่มคนที่ตัดสินใจมารับบริการเพร็ปคือกลุ่มคนที่มีปัญหากับการใช้ถุงยางอนามัยอยู่แล้ว ทุกครั้งที่มารับยาก็จะมีการตรวจเลือดหาทั้งเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่แล้ว ทำให้เจอเพิ่มมากขึ้น” พญ. นิตยากล่าว

“ถ้าถามว่าอะไรที่ป้องกันเอชไอวีได้ดีที่สุดในตอนนี้ คำตอบคือเพร็ป ซึ่งป้องกันได้ดีกว่าถุงยางอนามัย เพราะสามารถป้องกันได้ถึง 99% แต่ถ้าถามว่าอะไรป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ดีที่สุด คำตอบคือถุงยางอนามัย เพราะเพร็ปป้องกันได้เฉพาะเอชไอวี”

เธอให้ข้อมูลอีกว่าคนที่กินยาเพร็ปอยู่อาจจะติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้เพราะคนที่มารับยาเพร็ปส่วนมากเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยง เช่น ไม่ใช้ถุงยางอนามัย

“เราเจอโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มคนที่กินเพร็ปในจำนวนที่คงที่ เพราะยาเพร็ปไม่ได้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ความสำเร็จของยาเพร็ปคือคนกลุ่มนี้ต้องไม่ติดเอชไอวี”

“เพร็ปคืออีกหนึ่งทางเลือกในการป้องกันเอชไอวี ถ้าคุณใช้ถุงยางป้องกันได้ดีอยู่แล้ว คุณก็ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเพร็พ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่สามารถใช้ถุงยางอนามัยได้ไม่ว่าจะเหตุผลทางอำนาจหรือรสนิยม เพร็ปก็จะเป็นตัวเลือกที่สำคัญของคุณในการป้องกันเอชไอวี” ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวีกล่าว

ขณะที่ภานุศาสตร์ ผอ. มูลนิธิแอ็พคอม ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ผลพลอยได้อย่างหนึ่งของบริการยาเพร็ป คือ สามารถดึงคนเข้ามาในระบบบริการสุขภาพเพื่อตรวจเลือดได้ เมื่อมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บ่อยก็ทำให้คนรู้สถานะของตัวเองและเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ตรวจเลือด
คำบรรยายภาพ,ข้อมูลปี 2018 ระบุว่า 1 ใน 4 ของผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกับเชื้อเอชไอวี ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ

90-90-90

90-90-90 คือตัวเลขที่หน่วยงานที่ทำงานด้านเอชไอวี/เอดส์ทั่วโลกต่างกำลังให้ความสำคัญ รวมทั้งกรมควบคุมโรคของไทยด้วย

ตัวเลขนี้คือเป้าหมายที่โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอดส์) ต้องการบรรลุให้ได้ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) กล่าวคือ 90% ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่รู้สถานะการติดเชื้อของตัวเอง 90% ของผู้ที่รู้ว่าติดเชื้อได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และ 90% ของผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสสามารถกดไวรัสในกระแสเลือดได้สำเร็จ

กรมควบคุมโรครายงานวันนี้ (1 ธ.ค.) ซึ่งเป็นวันเอดส์โลกว่า จากการคาดประมาณ ณ สิ้นปี 2562 ไทยดำเนินการตามเป้าหมายของยูเอ็นเอดส์ได้ 99.8-79.9-97.3 นั่นหมายความว่าในส่วนของการทำให้คนรู้ว่าตัวเองติดเชื้อและการกดไวรัสในกระแสเลือดนั้น ไทยบรรลุเป้าหมายแล้ว แต่การทำให้ผู้ติดเชื้อได้รับยาต้านไวรัสนั้นยังต่ำกว่าเป้า

สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีของไทย ณ สิ้นปี 2562 เป็นดังนี้

  • มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 427,376 คน
  • มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 4,855 ราย/ปี หรือเฉลี่ย 33 ราย/วัน
  • ผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตจากเอชไอวี 11,882 ราย/ปี หรือเฉลี่ย 32 ราย/วัน

แม้ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายไปแล้ว 2 ใน 3 ด้าน แต่ พญ.นิตยา ย้ำว่าต้องให้ความสำคัญกับการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่

“นี่เป็นสาเหตุที่เราต้องให้ความสำคัญกับยาเพร็ปมาก ๆ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในบางเมืองใหญ่เช่นลอนดอนที่สามารถทำได้เกินเป้าไปที่ 98-98-98 แต่จำนวนของคนที่ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ก็ไม่มีแนวโน้มลดลง จนกระทั่งปี 2016 ที่เขาได้เพิ่มเพร็ปเข้าไปในมาตรการป้องกัน โดยทางเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากและทำงานอย่างรวดเร็วจนทำให้วันนี้ลอนดอนเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองในโลกที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยมาก”

“เราจะไม่ต้องการเพร็ปก็ต่อเมื่อเราบรรลุเป้าไปเป็น 100% ในทุกเรื่องแล้ว ถ้าไม่มีใครสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เพร็ปก็หมดหน้าที่ แต่ในวันนี้ที่ประเทศไทยยังมีคนที่ไม่รู้สถานะอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้ยาเพร็ปยังคงมีความจำเป็นอยู่” เธอสรุป

ที่มา :https://www.bbc.com/thai/thailand-55141812?at_custom3=BBC+Thai&at_custom4=3375CF54-33A4-11EB-8947-4201933C408C&at_campaign=64&at_custom2=facebook_page&at_medium=custom7&at_custom1=%5Bpost+type%5D&fbclid=IwAR2JPHbGDr6FKumy7_EwxE8FLI_YL69gfclxHRmUT6zIU2BGl67msRQop9A