โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) กระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ กลับมาให้ความสำคัญกับการยุติการแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ หลังจากพบสัญญาณว่าโรคติดเชื้อชนิดนี้ถูกละเลยไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเอชไอวี/เอดส์ถึง 7.7 ล้านคนภายในระยะเวลา 10 ปี

ช่วง 2 ปีที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ยูเอ็นเอดส์พบว่าปริมาณการตรวจหาเชื้อเอชไอวีที่น้อยลง จำนวนผู้ติดเชื้อที่เข้ารับยาต้านไวรัสที่ลดลง และจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ที่ลดลงในอัตราช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ยูเอ็นเอดส์กังวลว่าจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่เพิ่งประกาศไปในปีนี้ว่าจะกำจัดโรคเอดส์ให้หมดไปภายในปี 2030 ได้

“ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วน” วินนี เบียนยิมา ผู้อำนวยการยูเอ็นเอดส์กล่าวในถ้อยแถลงเนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธ.ค. 2564 “การต่อสู้กับโรคเอดส์ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายมาระยะหนึ่งแล้ว กำลังเผชิญอุปสรรคที่หนักหนาขึ้นกว่าเดิมจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อการรักษา การป้องกัน และการให้ความรู้”

ยูเอ็นเอดส์ระบุว่าแม้จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่จะลดลงในภาพรวมทั่วโลก แต่ยังลดลงไม่เร็วพอที่จะยุติการระบาดให้ได้ภายในปี 2030 ตามที่พวกเขาตั้งเป้าหมาย โดยในปี 2020 ทั่วโลกมีผู้ติดเอชไอวีรายใหม่ 1.5 ล้านคน และยังพบว่าบางประเทศมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นด้วย

สถิติยังบอกด้วยว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่มีความสัมพันธ์กับความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เช่น ในกลุ่มประเทศแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราพบว่า 6 ใน 7 คนของเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีเป็นเด็กผู้หญิง นอกจากนี้ยังพบว่าเกย์ กลุ่มชายรักชาย ผู้ค้าบริการทางเพศและผู้ที่ติดยาเสพติดมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวีสูงกว่าคนทั่วไปถึง 25-35 เท่า

ความเชื่อมโยงระหว่างการติดเชื้อเอชไอวีกับความไม่เท่าเทียมกันหรือความเหลื่อมล้ำในสังคมทำให้ยูเอ็นเอดส์กำหนดแนวคิดในการรณรงค์วันเอดส์โลกประจำปีนี้ ซึ่งครบรอบ 40 ปี นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายแรกของโลกว่า “ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์” (End inequalities. End AIDS. End pandemics.) เพื่อเน้นให้สังคมยุติการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวีและเพศภาวะ และให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม

พยาบาลกำลังเจาะเลือดจากคนไข้

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,1 ใน 4 ของผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกับเชื้อเอชไอวี ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ

ไทยตั้งเป้าลดผู้ติดเชื้อรายใหม่เหลือ 1,000 รายต่อปี

สำหรับสถานการณ์ในไทย กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค ระบุว่า ข้อมูล ณ เดือน เม.ย. 2564 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 493,859 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 5,825 คน (เฉลี่ย 16 คน/วัน) และมีผู้เสียชีวิตจากเอชไอวี 11,214 ราย/ปี (เฉลี่ย 31 ราย/วัน)

พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ฯ ระบุว่าสถานการณ์เอชไอวี/เอดส์ในประเทศไทยดีขึ้น เห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงจากหลักแสนและหลักหมื่นเมื่อหลายปีก่อน เหลือราว 5,800 คนในปีนี้

อย่างไรก็ตามประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้เหลือไม่เกิน 1,000 คนต่อปีภายในปี 2573 ซึ่ง พญ.ชีวนันท์ยอมรับว่า “เป็นเป้าหมายที่ยาก”

ผอ.กองโรคเอดส์ฯ สนับสนุนแนวคิดของการรณรงค์วันเอดส์โลกในปีนี้ว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในการลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพราะความเหลื่อมล้ำเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและประชากรกลุ่มเสี่ยง

เส้นเทา

โรคเอดส์คืออะไร

โรคเอดส์ เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวที่เป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ติดเชื้อโรคอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าคนปกติ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ที่ติดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสจะมีอาการของโรครุนแรง และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต

การติดต่อที่สำคัญ มี 3 ทาง คือ ทางเพศสัมพันธ์ การรับเชื้อทางเลือด และแม่สู่ลูก

ที่มา: กรมควบคุมโรค

เส้นเทา

ขณะที่ พญ. นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานด้านเอชไอวี/เอดส์ในไทย ให้ความเห็นในเวทีเปิดตัวรายงานวันเอดส์โลกของยูเอ็นเอดส์ประจำปี 2021 ซึ่งจัดโดยยูเอ็นเอดส์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกวันนี้ (30 พ.ย.) ว่าการระบาดของโควิดทำให้ปริมาณการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในไทยลดลงเมื่อปีที่แล้ว แต่ปีนี้ได้กลับมาเพิ่มขึ้นแล้ว

จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมในช่วงการระบาดของโควิด-19 พญ.นิตยาพบว่าหัวใจสำคัญของการรับมือกับวิกฤตด้านสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 หรือเอชไอวี/เอดส์คือองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคม ซึ่งหากได้รับการเสริมศักยภาพและสนับสนุนแล้ว จะมีบทบาทสำคัญในการออกแบบระบบที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์

เธอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดโอกาส สนับสนุนและเชื่อมั่นในองค์กรเหล่านี้ แทนที่จะรวมศูนย์การจัดการไว้ที่ภาครัฐ ซึ่งบางครั้งก็มีศักยภาพจำกัดในการรับมือกับปัญหาสาธารณสุข

“(ในช่วงโควิด) ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่ภาครัฐจะยอมรับว่าระบบบริการสาธารณสุขของรัฐนั้นเต็มศักยภาพแล้ว ถึงจะยอมให้มีการดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้าน” พญ.นิตยากล่าว พร้อมกับเสนอแนะให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบบริการปฐมภูมิและการให้ชุมชนเป็นผู้นำด้านการออกแบบระบบสาธารณสุขมากขึ้น

พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี

ที่มาของภาพ,นิตยา ภานุภาค

คำบรรยายภาพ,พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี

5 ยุทธศาสตร์ยุติเอดส์

รายงานวันเอดส์โลกประจำปี 2564 ของยูเอ็นเอดส์ได้ย้ำถึงยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ข้อซึ่งที่ประชุมระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วยเอดส์เห็นชอบร่วมกันว่าจะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อยุติการระบาดของโรคเอดส์ ได้แก่

  • ระบบสาธารณสุขที่ชุมชนเป็นผู้ออกแบบและชุมชนเป็นศูนย์กลาง
  • การเข้าถึงยา วัคซีนและเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างเท่าเทียม
  • การสนับสนุนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า
  • การรับมือกับการแพร่ระบาดต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ
  • ระบบข้อมูลที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม

https://www.bbc.com/thai/59478416?at_medium=custom7&at_custom1=%5Bpost+type%5D&at_campaign=64&at_custom4=7EA8683E-51E3-11EC-BF9C-2E11BECD475E&at_custom2=facebook_page&at_custom3=BBC+Thai&fbclid=IwAR1ThZaD6a37nIwuBDHyYuMmNUzMQ0t0kP5C-XuFcOkeEySBFymeeAzgyuI