รายงานจาก “กรมควบคุมโรค” (คร.) “กระทรวงสาธารณสุข” (สธ.) สถานการณ์โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) หรือชื่อใหม่ว่า Mpox แต่คนไทยรู้จักในชื่อ “ฝีดาษลิง” ประเทศไทย ว่า สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. 2566 มีรายงานผู้ป่วยในไทยรวม 189 ราย มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ร่วมด้วย จำนวน 82 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 43

ล่าสุดเอกสารการ คร.รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -วันที่ 15 ส.ค. 2566 มีผู้ป่วย “ฝีดาษลิง”  217 ราย ชาวต่างชาติ 30 ราย คนไทย 187 ราย อายุเฉลี่ยตั้งแต่ 20 – 64 ปี ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย อายุ 34 ปี มีการติดเชื้อ HIV ไม่ได้รับการรักษา

 

ภาพประกอบภาพประกอบ

 สถานการณ์การติดเชื้อ “ฝีดาษลิง” ในขณะนี้ มีรายงานพบผู้ป่วยใน 19 จังหวัด มี 3 จังหวัด ที่อยู่ในระดับสีแดง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 136 ราย, นนทบุรี 14 ราย และ จ.ชลบุรี 9 ราย
พัทยา จ.ชลบุรี จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ

พัทยา จ.ชลบุรี จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ

สีส้ม 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรปราการ 9 ราย, ภูเก็ต 8 ราย และ จ.ปทุมธานี 7 ราย

พื้นที่สีเหลือง 13 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร 2 ราย, ลพบุรี 2 ราย, มหาสารคาม 2 ราย, ขอนแก่น 2 ราย, พะเยา 2 ราย, นครราชสีมา 1 ราย, กาฬสินธุ์ 1 ราย, ฉะเชิงเทรา 1 ราย, สุพรรณบุรี 1 ราย, นครนายก 1 ราย, เชียงราย 1 ราย, พระนครศรีอยุธยา 1 ราย และ จ.ระยอง 3 ราย

ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อ “ฝีดาษลิง” ในประเทศไทย ถือว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะยังมีความสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่แล้ว และสามารถแพร่ต่อได้

“ฝีดาษลิง” เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสโดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ก็ได้ เช่น ไปสัมผัสผิวหนังบริเวณที่เป็นตุ่มหนอง แล้วรับเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่ขณะนั้นอาจจะมีผิวแตก หรือเป็นแผลก็ได้

รายงานในช่วงแรก ประมาณเดือนก.ค. 2565 – เม.ย. 2566 เป็นต่างชาติจำนวนหนึ่ง แต่ในการติดเชื้อช่วงหลังๆ นี้ ผู้ติดเชื้อเป็นคนไทยเกือบทั้งหมด (เกือบ 100%) ส่วนต่างชาติที่ติดเชื้อช่วงหลังก็เป็นการมาติดเชื้อในประเทศไทย ไม่ใช่เป็นการนำเชื้อมาจากต่างประเทศแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปยังไม่ต้องกังวลมาก หากไม่มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยง ประชาชนทั่วไปแทบไม่มีโอกาสติดเลย อย่างช่วง 2-3 เดือนหลังนี้ ไม่มีผู้หญิงติดเชื้อเลย มีแต่ผู้ชายที่มีความเสี่ยงทางเรื่องเพศ เพราะจากการสอบสวนโรคพบว่า เกือบ 100% เป็นคนที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย

“ฝีดาษลิง” พบในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2565 โดยระหว่างเดือนก.ค. -เม.ย. 2566 พบ 20 กว่าราย แต่ต่อมาเดือนพ.ค. พบ 20 กว่าราย เดือนมิ.ย. พบเกือบ 50 ราย เดือน ก.ค. พบเป็น 100 ราย ส่วนเดือน ส.ค.นี้ คาดว่า จะเป็นหลักร้อยรายเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง คือ มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย มีคู่นอนที่ไม่รู้จัก

ผู้ป่วย “ฝีดาษลิง” ส่วนใหญ่รู้ตัวอยู่แล้ว และรับยาอยู่ แต่มีบางส่วนที่อาจจะไม่รู้ตัวว่า ติดเชื้อ HIV มาก่อน ทำให้โรค “ฝีดาษลิง” และการติดเชื้อ HIV รุนแรงขึ้นจนเสียชีวิตเหมือนรายแรกที่เสียชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา HIV เมื่อติดเชื้อ “ฝีดาษลิง” ภูมิคุ้มกันต่ำจะทำให้ติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นๆ ได้

ทั้งนี้ กรณีที่ติดเชื้อ HIV แล้วอยู่ในกระบวนการรักษา ได้รับยาต้านไวรัสสม่ำเสมอ จะไม่มีความผิดปกติอะไรที่แตกต่างจากคนที่ไม่ติดเชื้อ คือ ภูมิคุ้มกันใกล้เคียงปกติ

สถานการณ์ “ฝีดาษลิง” ขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงในกลุ่มเสี่ยงที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ส่วนประชาชนทั่วไปที่ไม่มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยง ไม่น่าห่วงมากนัก โดยพื้นที่ที่มีการติดเชื้อค่อนข้างมาก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงมาก

ดังนั้น ขอให้ลดพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ “ฝีดาษลิง” เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่เชื้อกำลังเพิ่ม ถ้าสามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงก็จะปลอดภัย แต่หากไปมีความเสี่ยงมาแล้ว ก็ให้ตรวจสอบตัวเองว่า มีผื่น หรือตุ่มบริเวณที่สัมผัสหรือไม่ ทั้งอวัยวะเพศ ปาก หน้าท้อง แผ่นอก ถ้าลุกลามเป็นตุ่มหนองมากขึ้น บางคนมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น ให้ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล สวมหน้ากากอนามัย เว้นการสัมผัสกับผู้อื่น ส่วนคนที่ไม่เป็นก็ขอให้ล้างมือบ่อยๆ อย่าใช้สิ่งของร่วมกับคนอื่น