บุคคลข้ามเพศเข้าถึงบริการสุขภาพน้อย
เหตุนโยบายรัฐไม่ครอบคลุม
กสม.ชี้ไม่ใช่เสริมความงาม รัฐต้องดูแล
.
วันนี้ (19 ตุลาคม 2565) ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงาน ‘ทำไมสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศ ต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ’ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก สสส. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ว่า แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่ายอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างกว้างขวาง แต่ปัจจุบันยังมีบุคคลข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้ง รังแก รวมทั้งไม่ได้รับการบริการทางสาธาณสุขอย่างทั่วถึง
.
จากข้อมูลของ สสส.พบว่า ประเทศไทยมีสตรีข้ามเพศประมาณ 3.7 แสนคน แต่ยังไม่มีการเก็บข้อมูลชายข้ามเพศเลย ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอาจมีบุคคลข้ามเพศอีกหลายคนที่ไม่ได้รับบริการทางสาธารณสุขเพื่อการข้ามเพศ เช่น การให้ฮอร์โมนที่ถูกสุขลักษณะหรือการผ่าตัดอย่างเหมาะสม
.
ชาติวุฒิกล่าวว่า บุคคลข้ามเพศในระบบของ สสส.ประมาณ 3.7 แสนคนก็ยังไม่ได้รับบริการเพื่อการข้ามเพศอย่างทั่วถึง เป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ
.
1. สถานพยาบาลที่ให้บริการด้านสุขภาพต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศมีจำกัด
2. ประเด็นละเอียดอ่อนเรื่องเพศ
3. ภาครัฐไม่มีข้อมูลบุคคลข้ามเพศมากเท่าที่ควรทำให้นโยบายทางสารธารณสุขไม่ครอบคลุม
.
“บุคคลข้ามเพศที่ต้องการเปลี่ยนแปลงร่างกายให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง ส่วนใหญ่หาซื้อฮอร์โมนกินเองตามท้องตลาดหรือทางอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้เกิดการใช้ฮอร์โมนเกินขนาด หรือใช้แบบผิดวิธี ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต” ชาติวุฒิระบุ
.
สุภัทรา นาคะผิว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณสุขเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน การให้บริการเพื่อการข้ามเพศถือเป็นความจำเป็นด้านสุขภาพของกลุ่มคนที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด
.
“พวกเขามีสิทธิที่จะกำหนดเจตจำนงในวิถีชีวิตของตัวเอง การข้ามเพศไม่ใช่การเสริมความงาม แต่เป็นความจำเป็นด้านสุขภาพ พวกเขาจึงไม่ได้เรียกร้องสิทธิพิเศษแต่อย่างใด ดังนั้นรัฐจึงต้องให้ความคุ้มครอง”
.
ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ท่ามกลางคำกล่าวที่ว่าประเทศเรายอมรับความหลากหลาย แต่หากมองอีกแง่หนึ่ง เมื่อเรารู้ว่าทุกคนหลากหลาย ทุกคนไม่เหมือนกัน ไม่ว่าสิทธินั้นจะเป็นสิทธิเรื่องอะไรก็ตาม พวกเขาต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน จากหลักคิดเช่นนี้ ทำให้เกิดแนวคิดสุขภาพสำหรับทุกคน (Health For All) ของ กทม. ผ่านการสร้างคลินิกสุขภาพเพศหลากหลายใน กทม. (BKK Pride Clinic) จำนวน 11 แห่ง
.
สำหรับบริบทบุคคลข้ามเพศในต่างจังหวัด พักตร์วิไล สหุนาฬุ ตัวแทนชุมชนบุคคลข้ามเพศจากภาคอีสาน กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำหลายด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สาธารณสุข และอื่นๆ อีกมากมาย ประกอบกับเขาอยู่ในพื้นที่ชนบทของจังหวัดสุรินทร์ จึงไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขขั้นพื้นฐานและบริการด้านการข้ามเพศในพื้นที่ได้เลย
.
“หลายครั้งเราต้องเข้ามาใช้บริการในกรุงเทพฯ ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายเยอะมาก ทั้งค่ารถ ค่าเดินทาง และค่ากิน สิ่งที่ต้องการคือให้บริการทางสาธารณสุขของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เข้าถึงได้ไม่เพียงแต่ในเขตกรุงเทพฯ แต่รวมถึงต่างจังหวัดและพื้นที่ชนบทด้วย
.
“มากไปกว่านั้น เราไม่ใช่ข้าราชการ ปกติใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาล ซึ่งก็ใช้ได้แค่เรื่องสุขภาพพื้นฐาน ยังไม่ครอบคลุมถึงการบริการเฉพาะทางของการข้ามเพศอย่างการผ่าตัดหรือการใช้ฮอร์โมน เรามองว่าประชาชนทุกคนเป็นคนเสียภาษี และสร้างเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นรัฐต้องดูแลประชาชนทุกคนในทุกด้านอย่างถ้วนหน้า”
.
ณชเล บุญญาภิสมภาร ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของบุคคลข้ามเพศในประเทศไทย เสนอแนวทางส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนดังกล่าวต่อภาครัฐ ผ่านยุทธศาสตร์ 2 ข้อ ได้แก่
.
1. การสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ถึงสิทธิด้านสุขภาวะแบบรอบด้านของบุคคลข้ามเพศ
.
2. การสร้างระบบบริการสุขภาวะที่เป็นธรรม ภายใต้ ‘หลักประกันสุขภาพ’ ที่เข้าถึงได้สำหรับบุคคลข้ามเพศ
.
ณชเลอธิบายแผนการดำเนินงานที่ต้องการให้ภาครัฐนำไปปรับใช้ 7 ประการ ได้แก่
.
1. การพัฒนาองค์ความรู้ ฐานข้อมูล รวมทั้งการบริหารจัดการในประเด็นการข้ามเพศให้มากขึ้น
.
2. มีนวัตกรรมการประเมินผล เฝ้าระวังการละเมิดสิทธิในสถานพยาบาล พร้อมการให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิต
.
3. ตั้งคลินิกหรือศูนย์ให้บริการทางสุขภาวะที่เป็นมิตร ปลอดภัย และเข้าถึงได้ในแต่ละจังหวัด รวมทั้งสร้างบ้านพักคนชราสำหรับบุคคลข้ามเพศ
.
4. ผู้ให้บริการต้องมีความรู้ความเข้าใจ พัฒนาทักษะของการบริการ โดยคำนึงถึงความอ่อนไหวทางเพศสภาพ
.
5. จัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติในสถานบริการ
.
6. สร้างเครือข่ายและระบบส่งต่อข้อมูลอย่างเหมาะสม
.
7. ผลักดันให้เกิดนโยบายสวัสดิการ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อสุขภาวะของบุคคลข้ามเพศ
.
เรื่อง: สาธิต สูติปัญญา
ภาพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
.
#TheMomentum #StayCuriousBeOpen #Gender #InternalAffairs #บุคคลข้ามเพศ #สุขภาพบุคคลข้ามเพศ #บริการทางสาธารณสุข #รัฐไทย