กรุงเทพฯ เมืองที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ 5.5 ล้านกว่าคน ยังไม่รวมประชากรแฝง และเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลาย รอผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ มาแก้ไขปัญหาให้พวกเขา เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQI+ กำลังรอวันที่ทุกคนเท่ากันในความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ หวังว่า “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่าที่ผู้ว่า กทม.คนใหม่ จะเดินหน้าให้สอดรับกับความต้องการของคนแต่ละกลุ่ม

   แม้ในนโยบายมีการกำหนดให้หน่วยงานใน กทม. ปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยเฉพาะผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียม เน้นการยอมรับและความเข้าใจ สามารถร้องทุกข์เรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมได้ และสนับสนุนการแสดงออกที่หลากหลาย ไม่บังคับแต่งชุดเครื่องแบบข้าราชการตามเพศกำเนิด สามารถใส่ตามที่สะดวกใจได้ รวมถึงมีกฎป้องกันการคุกคามทางเพศในหน่วยงาน กทม.

   แต่ยังไม่พอเท่านั้น จากความคาดหวังของ “แดนนี่–กิตตินันท์ ธรมธัช” นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ฝากไปถึง “ชัชชาติ” เพราะการให้หน่วยงานใน กทม. ปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยเฉพาะผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียมนั้น เป็นไปตามหลักการของ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 และในรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรค 2 จะเลือกปฏิบัติทางเพศไม่ได้ ซึ่งทุกๆ 5 ปี ต้องมีการทบทวนหาข้อบกพร่องเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเข้าสู่สภา

   ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2563 ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างภาครัฐและเอกชน รวม 63 องค์กร อนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพ จัดพื้นที่ที่เหมาะสมกับเพศภาวะ เช่น ห้องน้ำ การรับสมัครงาน จะไม่นำลักษณะทางเพศมากำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร ไม่มีการบูลลี่เหยียดหยามเสียดสี การไม่กีดกันในการสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานองค์กร และป้องกัน แก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดในที่ทำงาน

   “แม้กระทั่ง กทม.ก็เช่นกัน ทำให้ คุณชัชชาติ ต้องสนองตอบ เช่นเดียวกับหลายหน่วยงาน ทั้งที่ควรทำเป็นภาคปฏิบัติ ถ้าไม่ทำทางภาคประชาชนก็ทำอยู่แล้ว เพราะมีเครื่องมือตามกฎหมาย และมีการเซ็นเอ็มโอยู แต่สิ่งที่คุณชัชชาติ ต้องจัดการ คือแก้ระเบียบข้อบังคับเครื่องแต่งกายของข้าราชการพลเรือน รวมทั้งข้าราชการครูสังกัด กทม.ถูกบังคับโดยวินัยข้าราชการ”

   จากการติดตามดูนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พบว่ามีเพียงพรรคไทยสร้างไทย ประกาศเป็นเรื่องเป็นราวจะทำให้ กทม.เป็นมหานครสีรุ้ง สร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และแม้มีผู้สมัครหลายคนเสนอให้เอาแนวคิดไปใช้ แต่อยู่ที่ชัชชาติ จะทำได้หรือไม่ หรืออาจหยิบมาสานต่อ

   สิ่งสำคัญอยากให้เข้าใจว่าเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง เป็นเรื่องเดียวกับเพศสภาพ เพราะมีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศยังถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ ทั้งถูกกีดกันในการทำงาน และเรื่องเครื่องแต่งกาย ทั้งหมดนี้ได้ส่งผลต่อการทำมาหากิน

   อีกทั้งในมหานครสีรุ้งนี้ คาดว่ามีกลุ่มหลากหลายทางเพศกว่า 10 ล้านคน มาอาศัยทำมาหากิน อย่ามองเป็นเรื่องการเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาค แต่สิ่งที่เขาเรียกร้องล้วนเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกัน รวมทั้งปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ได้กระทบกระเทือนต่อคนเหล่านี้

   “เมื่อไม่มีความสุขในการทำงานก็กระทบต่อเศรษฐกิจ บางคนเป็นโรคซึมเศร้า กระทั่งฆ่าตัวตาย อย่างกะเทยบางคนไม่อยากไปโรงพยาบาล เพราะถูกเรียกว่านาย ไม่ตรงกับเพศสภาพ หรือเมื่อติดโควิด ไม่อยากอยู่ในโรงพยาบาลสนามร่วมกับผู้ชาย ทุกอย่างเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง อยากให้คุณชัชชาติ ทำพร้อมๆ กันในการยกระดับคุณภาพของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ให้เท่าเทียมกับมนุษย์หญิงชาย เมื่อทำได้จะดีต่อเศรษฐกิจ”

   ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นทางภาครัฐมองไม่เห็น เพราะไม่มีสำมะโนประชากรคนหลากหลายทางเพศ ทำเป็นข้อมูลเหมือนสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อไม่รู้ก็ถูกปฏิเสธเพราะตัวเลขข้อมูลไม่มี อยากเสนอให้ชัชชาติ สำรวจสำมะโนประชากรคนเหล่านี้ในเมืองกรุง หากทำได้จะดังไปทั่วโลก และต้องแยกระหว่างกลุ่มเปราะบาง กับกลุ่มเปราะบางถูกเลือกปฏิบัติ

   กลุ่มสุดท้ายนี้ปัจจุบันตกงาน จากทัศนคติของคน และจากธุรกิจที่ปิดตัวลงอย่างถาวร ทั้งผับ บาร์ สถานบริการ ได้กระทบต่อช่างแต่งหน้า นางโชว์ คนทำอาชีพไม่เป็นทางการ และคนขายบริการทางเพศ ที่ชัชชาติจะอยู่เฉยไม่ได้ ต้องหารายได้จากมหานครสีรุ้ง โดยเฉพาะผู้ขายบริการทางเพศ ต้องมีกฎหมายคุ้มครอง หากถูกตีถูกทำร้าย และยกเลิกการค้าประเวณีว่าผิดกฎหมาย ให้เข้าสู่ระบบในกฎหมายแรงงาน สามารถทำได้หมด หากประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้ กทม.ไม่มีอำนาจโดยตรง เพื่อทำให้ กทม.เป็นมหานครสีรุ้ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้มหาศาล เหมือนพัทยา และจัดเทศกาลไพรด์ (pride festival) หรือบางกอกไพรด์ ทุกปีเหมือนซิดนีย์

   “อย่าทิ้งพวกเราไว้ข้างหลัง เพราะการมองไม่เห็นกลุ่มหลากหลายทางเพศมีตัวตน เป็นเหมือนยาพิษ จนไปต่อไม่ได้ในการเข้าถึงสิทธิ จึงอยากให้เข้าใจการมีตัวตน การเข้าถึงสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียม เกิดการยอมรับความเป็นมนุษย์ มีความเคารพซึ่งกันและกัน และไม่มีการละเมิดระหว่างมนุษย์ด้วยกัน อยากให้คุณชัชชาติทำให้ได้ หากทำได้จะเป็นโมเดลในหลายจังหวัด ให้กลายเป็นไพรด์ ไทยแลนด์ ไปทั่วประเทศตามหัวเมืองใหญ่” 

ที่มา  : https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2400727